คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ยา” ตามพระราชบัญญัติการขาย พ.ศ. 2493 มาตรา 4 นั้น หาได้อยู่ที่ว่าวัตถุนั้นจะบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ความมุ่งหมายในการใช้ ฉะนั้น กำไลแหวนและสร้อยซึ่งมุ่งหมายจะใช้ป้องกันโรค จึงเป็นยาตามความหมายแห่งกฎหมายดังกล่าว และเมื่อผู้ใดโฆษณาหรือขายวัตถุเหล่านี้โดยมิได้รับอนุญาต ก็ย่อมมีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันประกอบธุรกิจการขายยาโดยนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายและมีไว้เพื่อขาย ซึ่งวัตถุที่จำเลยใช้ชื่อว่ากำไลวิทยาศาสตร์ รวมทั้งวัตถุเป็นรูปแหวนและสร้อย และจำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาว่ากำไลวิทยาศาสตร์เป็นวัตถุที่ใช้ในการพิเคราะห์บำบัดบรรเทารักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ ทั้งนี้ โดยมิได้รับอนุญาตให้ขายยา ทั้งยังบังอาจฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มิให้โฆษณาด้วย ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยไม่ผิดในข้อขายยา แต่ผิดในการแจ้งความขายยาดดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๒๐-๓๙ พระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ ๒) มาตรา ๑๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ลงโทษปรับจำเลยคนละ ๕๐๐ บาท ของกลางไม่ริบ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า มาตรา ๔(๒) แห่งพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้บัญญัติวิเคราะห์ศัพท์คำว่า ยา ไว้ การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นยาตามความหมายแห่งบทบัญญัตินั้น ข้อสำคัญหาได้อยู่ที่ว่า วัตถุนั้นจะบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ความมุ่งหมายในการใช้วัตถุนั้นต่างหาก ความมุ่งหมายในการใช้วัตถุของกลางนี้ย่อมแสดงชัดอยู่แล้วว่า มุ่งหมายจะให้ใช้วัตถุนี้บำบัดรักษาและป้องกันโรคของมนุษย์ ที่ประชุมใหญ่จึงมีความเห็นว่า วัตถุของกลางนี้เป็นยาตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๔(๒) เมื่อฟังได้ว่าวัตถุของกลางนี้เป็นยาตามความหมายแห่งพระราชบัญญัตินี้แล้ว จำเลยมีวัตถุเหล่านี้ไว้เพื่อจำหน่าย จำเลยจึงต้องมีความผิดตามมาตรา ๗ ประกอบด้วยมาตรา ๔ วรรคสุดท้าย อันจะต้องลงโทษตามมาตรา ๒๘ กับมีความผิดฐานแจ้งความขายยาตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. ๒๔๙๓ อันจะต้องลงโทษตามมาตรา ๓๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา ๓๔ อันเป็นกระทงที่หนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๘๓
พิพากษากลับ ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสอง คนละ ๕๐๐ บาท ของกลางไม่ริบ

Share