แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของจำเลยข้อ 1 วรรคหนึ่ง มีความว่า “กองทุนจะดำเนินการจ่ายชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นผู้ฝากเงินหรือผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ทรงตราสารหนี้ที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ออกเพื่อการรับฝากเงินหรือกู้ยืมเงินเท่านั้น” ข้อความดังกล่าวขัดแย้งแตกต่างกับความในข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งกล่าวโดยเฉพาะได้ให้คำจำกัดความคำว่า “เจ้าหนี้” ไว้เป็นอย่างเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 29 อัฏฐ วรรคสอง ทั้งไม่ปรากฏว่าการออกประกาศได้ อ้างอิงหรือจำกัด ตัดลงด้วยกฎหมายหรือข้อบังคับกฎระเบียบใดและเหตุผลใด เป็นเพียงประกาศที่ผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (จำเลย) ออกขึ้นเอง จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างหยิบยกประกาศ เป็นดุลพินิจมาปฏิเสธความรับผิดชอบตามข้อบังคับของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 38,858,565.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4.85 ต่อปี ของต้นเงิน 37,278,420 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 37,278,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใหญ่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2542 หักด้วยร้อยละ 4 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามหนังสือรับรอง และได้มอบอำนาจให้นายสุพล เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจ ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 พ.ศ.2528 มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โจทก์ประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ โดยจำหน่ายให้แก่ผู้จำหน่ายที่ได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ที่อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ บริษัทประจักษ์อุตสาหกรรม (1982) จำกัด ได้รับการแต่งตั้งจากโจทก์ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุตั้งแต่ปี 2525 โดยมีข้อตกลงกับโจทก์เกี่ยวกับวิธีการชำระเงินว่า บริษัทประจักษ์อุตสาหกรรม (1982) จำกัด จะเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศชนิดเพิกถอนไม่ได้กับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และผ่อนชำระเป็นงวด ๆ เมื่อโจทก์ได้รับเล็ตเตอร์ออฟเครดิตจากบริษัทประจักษ์อุตสาหกรรม (1982) จำกัด แล้ว โจทก์จะส่งมอบรถยนต์และโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่บริษัทประจักษ์อุตสาหกรรม (1982) จำกัด ต่อจากนั้นโจทก์จะออกตั๋วแลกเงินให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบริษัทประจักษ์อุตสาหกรรม (1982) จำกัด ลงลายมือชื่อรับรองที่หน้าตั๋วแลกเงินแล้วส่งกลับมาให้แก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์ก็จะนำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลางปี 2540 ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและทางการเงิน วันที่ 8 สิงหาคม 2540 จำเลยจึงได้ออกข้อบังคับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ว่าด้วยการประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 และหนังสือรับรองการประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินเพื่อสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และสร้างความมั่นใจแก่ผู้ฝากและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน ที่จะได้รับการช่วยเหลือทางการเงิน เมื่อสถาบันการเงินประสบวิกฤติการณ์ทางการเงิน และระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ได้ยอมรับชำระหนี้ค่าราคาสินค้าจากบริษัทประจักษ์อุตสาหกรรม (1982) จำกัด ด้วยเล็ตเตอร์ออฟเครดิตของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรื่อยมา แต่ต่อมาปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ ต้องหยุดการดำเนินกิจการทำให้ไม่สามารถชำระเงินตามตั๋วแลกเงินที่ได้รับรองการใช้เงินไว้ตามภาระผูกพันตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ได้ อันมีผลให้เจ้าหนี้ทั้งหลายของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ต้องยื่นคำขอให้จำเลยพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ตามประกาศของจำเลย โดยขณะนั้น ณ วันที่ 1 กันยายน 2542 ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้รับรองตั๋วแลกเงินตามภาระผูกพันตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตที่ยังขึ้นเงินไม่ได้ 650 ฉบับ รวมเป็นเงิน 37,278,420 บาท ตามบัญชีแสดงรายการเล็ตเตอร์ออฟเครดิต วันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 โจทก์ได้ทำคำขอแสดงเจตนาขอรับความช่วยเหลือทางการเงินไปยังจำเลย โดยธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้ตกลงยินยอมโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยแล้ว วันที่ 2 ธันวาคม 2542 จำเลยแจ้งปฏิเสธอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินตามประกาศของจำเลยฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2542
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 37,278,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใหญ่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2542 หักด้วยอัตราร้อยละ 4 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงที่ต่างนำสืบรับกันฟังได้ในรายละเอียด โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินพิพาทที่ออกตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้จ่ายและเป็นผู้รับรองการใช้เงินตามตั๋วแลกเงินเหล่านั้น โดยธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ผูกพันต้องจ่ายเงินแก่โจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 937 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารดังกล่าว โจทก์จึงย่อมอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (จำเลย) จะต้องให้ความช่วยเหลือตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 อัฏฐ วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 เมื่อต่อมาปรากฏว่าได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยขึ้น และคณะกรรมการจัดการกองทุนของจำเลย ได้ออกข้อบังคับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ว่าด้วยการประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ตามข้อบังคับ รวมทั้งออกหนังสือรับรองการประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน ลงวันที่ 8 กันยายน 2540 ตาม ด้วย โดยข้อความในข้อบังคับฯ ดังกล่าว ได้ให้คำจำกัดความว่าเจ้าหนี้ไว้เป็นอย่างเดียวกับความในมาตรา 29 อัฏฐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ที่แก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 การออกข้อบังคับและหนังสือรับรองการประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินตาม ของจำเลยดังกล่าว ย่อมทำให้โจทก์มีความมั่นใจว่าจะยังคงได้รับการชำระหนี้จากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ตามปกติที่เคยค้าต่อไป จึงได้ทำธุรกรรมกับธนาคารดังกล่าวต่อมาอีก หาใช่โจทก์เข้าเสี่ยงภัยหรือใช้สิทธิไม่สุจริตดังข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลย ตรงข้ามหากโจทก์หรือผู้เคยค้าทั้งหลายอย่างโจทก์ที่ทำธุรกรรมกับธนาคารดังกล่าวต่างหยุดไม่ทำธุรกรรมกับธนาคารอีกต่อไป ก็ย่อม จะเกิดวิกฤตศรัทธารวมไปถึงผู้ฝากเงิน อาทิ บริษัทประจักษ์อุตสาหกรรม (1982) จำกัด ต่อธนาคารดังกล่าว เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะคงความเป็นลูกค้าผู้ฝากเงินเพื่อใช้ทำธุรกรรมต่อไป อันย่อมทำให้เป้าหมายผลสัมฤทธิ์ของรัฐที่จัดตั้งกองทุนจำเลยขึ้นเบี่ยงเบนไม่เป็นไปตามที่ประสงค์อันเป็นผลกระทบเสียหายต่อเศรษฐกิจการเงินของประเทศโดยง่าย หาใช่ไม่เสียหายดังญาณทัสนะของจำเลย และเมื่อมีกรณีธนาคารดังกล่าวถูกกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการทั้งถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ โจทก์จึงได้ยื่นคำร้อง ต่อจำเลยขอรับความช่วยเหลือตามมูลค่าตั๋วแลกเงินพิพาท 37,278,420 บาท ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้อง หรือใช้ดุลพินิจกำหนดให้ตามสมควรดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 อัฏฐ (4) แต่กลับปฏิเสธไม่ชำระเพราะเหตุว่าโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) โดยนอกจากอ้างถึงความในมาตรา 29 อัฏฐ วรรคหนึ่ง (4) ที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ยังอ้างและนำสืบอธิบายด้วยว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามประกาศของจำเลย เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือนั้น ซึ่งในข้ออ้างประการหลังพิจารณาแล้วตามประกาศ ดังกล่าว ข้อ 1 วรรคหนึ่ง มีความว่า “กองทุนจะดำเนินการจ่ายชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นผู้ฝากเงินหรือผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ทรงตราสารหนี้ที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ออกเพื่อการรับฝากเงินหรือกู้ยืมเงินเท่านั้น” ข้อความดังกล่าวขัดแย้งแตกต่างกับความในข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งกล่าวโดยเฉพาะได้ให้คำจำกัดความคำว่า “เจ้าหนี้” ไว้เป็นอย่างเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 29 อัฏฐ วรรคสอง ดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าการออกประกาศได้ อ้างอิงหรือจำกัด ตัดลงด้วยกฎหมายหรือข้อบังคับกฎระเบียบใดและเหตุผลใด เป็นเพียงประกาศที่ผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (จำเลย) ออกขึ้นเอง ทั้งที่มีข้อความในประกาศเองเท้าความถึงข้อบังคับฯ ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างหยิบยกประกาศ เป็นดุลพินิจมาปฏิเสธความรับผิดชอบตามข้อบังคับของจำเลย และหนังสือรับรองของจำเลย แต่อย่างใด ทั้งถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบไม่ถูกต้องด้วย เมื่อข้อบังคับฯ ข้อ 7 ระบุเป็นการประกันต้นเงินเต็มจำนวน จำเลยจึงต้องชำระต้นเงินแก่โจทก์ 37,278,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวตามที่จำเลยเองกำหนดไว้ในข้อบังคับฯ ข้อ 7 (ข) คือดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใหญ่เรียกจากลูกค้าชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ณ วันที่ชำระหนี้ หักด้วยอัตราร้อยละ 4 ต่อปี แต่เนื่องจากจำเลยไม่ชำระ และโดยที่ตามข้อบังคับฯ ข้อ 9 (ก) กำหนดเงื่อนไขไว้เองว่า “กองทุนจะชำระคืนแก่ผู้ฝากหรือเจ้าหนี้เป็นเช็คหรือแคชเชียร์เช็คภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการขอรับเงินหรือหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วแต่กรณี” ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ยื่นเรื่องขอรับเงินดังกล่าวจากจำเลยในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 จำเลยจึงต้องชำระเงินแก่โจทก์ภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2542 และโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราตามกำหนดในข้อ 7 (ข) ดังกล่าวจากจำเลยนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จด้วย แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 4.85 ต่อปีตามขอตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามข้อต่อสู้ของจำเลยและพิพากษายกฟ้องโจทก์มา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 4.85 ต่อปี และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท