คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2009/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จากการตรวจสอบบัญชี หลักฐานการเบิกจ่ายเงินงบประมาณซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลย คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอต่อทางจังหวัดว่า เงินขาดบัญชีไป 1 ล้านบาทเศษ ซึ่งโจทก์ยึดถือกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้ แต่คณะกรรมการที่ทางจังหวัดตั้งขึ้นตรวจสอบปรากฏว่าจำนวนเงินขาดไปเพียง 1 แสนบาทเศษ ทั้งยังพบหลักฐานการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นใบสำคัญคู่จ่ายที่จำเลยยังมิได้ลงไว้ในหลักฐานการเบิกจ่ายเงินในบัญชีเป็นจำนวน 8 แสนบาทเศษ ถ้าหากมีการอนุมัติการจ่ายถูกต้องและลงบัญชีให้ครบถ้วนแล้ว เงินก็จะไม่ขาดบัญชี การที่เงินขาดบัญชีไปน่าจะเกิดจากความบกพร่องในการทำบัญชีไม่เรียบร้อยมิใช่การทุจริตเกิดขึ้น ดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 147 ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมเป็นจำคุก 70 ปี ให้จำเลยคืนเงินแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าเดิมจำเลยรับราชการในตำแหน่งเสมียนตราจังหวัดศรีสะเกษ และในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกจ่าย การเก็บรักษาเงิน การบัญชี และควบคุมการเงินของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทกับของส่วนการศึกษาประชาบาลของจังหวัดศรีสะเกษด้วย โดยมีนางกรุณา พานกวีวงศ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าส่วนการคลังซึ่งจำเลยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่จำเลยดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2514 หลังจากนั้นได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอโท อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากจำเลยย้ายไปแล้ว ต่อมาประมาณเดือนมีนาคม 2515 ได้มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยนายบุญล้อม ทนุนาจารย์ นายสมบัติ หอมจันทร์และนายสมบูรณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มาทำการตรวจสอบบัญชีการเงินซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยในปีงบประมาณ 2514 เริ่มต้นจากวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2514 ผลของการตรวจสอบบัญชีการเงินดังกล่าวปรากฏว่ามีเงินขาดบัญชีไปเป็นจำนวนเงิน 1,005,930.72 บาท ปรากฏรายละเอียดตามรายการเงินขาดบัญชีท้ายฟ้อง คณะกรรมการจึงได้ทำรายงานการตรวจสอบบัญชีเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษพร้อมเสนอความเห็นให้ทางจังหวัดศรีสะเกษตั้งคณะกรรมการของจังหวัดขึ้นทำการตรวจสอบเพื่อให้เป็นที่แน่นอนอีกครั้งหนึ่งปรากฏตามรายงานการตรวจสอบหมาย ป.จ.1 ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการตรวจสอบหลักฐานการบัญชีเกี่ยวกับการเงินในความรับผิดชอบของจำเลยดังกล่าว ผลของการตรวจสอบของทางจังหวัดคณะกรรมการยืนยันว่ามีเงินขาดบัญชีอยู่ 646,414.51 บาท และมีหลักฐานใบสำคัญแสดงการจ่ายเงินที่ไม่ได้ลงบัญชีมีจำนวนเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าได้มีการอนุมัติการจ่ายถูกต้องและได้ลงบัญชีรายจ่ายให้ครบถ้วนแล้วเงินก็จะได้ขาดบัญชี คณะกรรมการของจังหวัดจึงเสนอความเห็นว่า การที่มีความผิดพลาดทางบัญชีแสดงว่ามีเงินขาดบัญชีไปน่าจะเกิดจากความบกพร่องในการทำบัญชีไม่เรียบร้อยมิใช่มีการทุจริตเกิดขึ้น ดังปรากฏตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ตรวจสอบ เอกสารหมาย ป.จ.6 เมื่อเสนอความเห็นไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เห็นว่าน่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้น จึงได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษ ดำเนินคดีนี้แก่จำเลย ชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธความผิดตลอดมา

จำเลยนำสืบปฏิเสธความผิดว่า จำเลยไม่ได้ทุจริตเบียดบังยักยอกเงินของทางการไปดังโจทก์ฟ้อง จำเลยมีใบสำคัญคู่จ่ายซึ่งเป็นหลักฐานการจ่ายเงินไปตรวบถ้วนถูกต้อง เหตุที่จำเลยถูกฟ้องดำเนินคดีนี้ เพราะจำเลยไม่ถูกกับผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้นเกี่ยวกับการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้จำเลยออกหลักฐานใบเสร็จการจ่ายเงินงบประมาณอันเป็นเท็จ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดผู้นี้ก็ถูกทางราชการมีคำสั่งให้ไล่ออกจากทางราชการไปแล้ว

ปัญหาว่า จำเลยได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกเงินของทางราชการไปดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษมานั้นหรือไม่

พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์โดยตลอดแล้ว คดีได้ความจากคำเบิกความของนางกรุณา พานกวีวงศ์ พยานโจทก์ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของจำเลยในขณะเกิดเหตุว่า หลังจากที่จำเลยถูกย้ายไปรับราชการที่จังหวัดบุรีรัมย์แล้ว ต่อมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ไปทำกรตรวจสอบบัญชี หลักฐานการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2514 ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยตามหน้าที่นั้นแล้วคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ทำความเห็นเสนอต่อทางจังหวัดศรีสะเกษว่ามียอดเงินขาดบัญชีไปเป็นจำนวน 1,005,830.72 บาท แต่เนื่องจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบหลักฐานใบเสร็จคู่จ่ายที่ยังไม่ได้ลงบัญชีจำนวนเงินอยู่เป็นอันมาก จึงได้เสนอรายงานความเห็นให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งคณะกรรมการของทางจังหวัดขึ้นทำการตรวจสอบหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน การบัญชีของจำเลยอีกครั้งหนึ่งเพื่อความถูกต้องแน่นอน เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งมีนายเจริญ มุสิกลัด เป็นประธานกรรมการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษตั้งขึ้นทำการตรวจสอบแล้ว กลับปรากฏหลักฐานว่ามีเงินขาดบัญชีในความรับผิดชอบของจำเลยไปเพียง 646,414.51 บาท ซึ่งไม่ตรงกับหลักฐานการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทั้งจำนวนเงินที่กล่าวหาว่าจำเลยได้ทุจริตเบียดบังยักยอกเอาไปก็มีจำนวนน้อยกว่ากันมาก แสดงให้เห็นว่า จำนวนเงินของทางราชการตามหลักฐานการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่โจทก์ยึดถือกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้ยังรับฟังไม่ได้เป็นที่แน่นอน หรือให้รับฟังได้ว่าจำเลยนี้ได้ทุจริตเบียดบังเอาไปเป็นจำนวนเงินเท่าใดแน่ นอกจากนี้คดียังได้ความจากคำเบิกความของนายบุญล้อม ทนุนาจารย์ นายสมบัติ หอมจันทร์ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินผู้ทำการตรวจสอบหลักฐานการเงินในความรับผิดชอบของจำเลย และจากคำเบิกความของนายเจริญ มุสิกลัดพยานโจทก์ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบตรงกันว่า หลังจากทำการตรวจสอบหลักฐานการบัญชี การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในความรับผิดชอบของจำเลยนี้แล้ว ได้ตรวจพบหลักฐานใบเสร็จรับเงิน ใบสำคัญคู่จ่ายเงินงบประมาณที่ยังไม่ได้ลงบัญชีมีเงินอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการผู้ทำการตรวจสอบทั้งสองคณะดังกล่าวจึงไม่ได้ให้ความเห็นเป็นการระบุยืนยันลงไปว่า จำเลยเป็นผู้ทุจริตเบียดบังยักยอกเงินตามที่ตรวจพบว่าขาดหายไปจากบัญชีนั้นจริง ทั้งคณะกรรมการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งขึ้นอันมีนายเจริญ มุสิกลัด เป็นประธานกรรมการยังได้เสนอความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษอีกว่า คณะกรรมการได้ตรวจพบหลักฐานการจ่ายเงินซึ่งเป็นใบสำคัญคู่จ่ายที่จำเลยยังมิได้ลงไว้ในหลักฐานการเบิกจ่ายเงินในบัญชีเป็นจำนวนเงิน 851,925.83 บาท ถ้าหากมีการอนุมัติการจ่ายถูกต้องและจำเลยได้ลงบัญชีรายจ่ายให้ครบถ้วนแล้วเงินก็จะไม่ขาดบัญชีการที่มีความผิดพลาดมีเงินขาดบัญชีไปเช่นนี้น่าจะเกิดจากความบกพร่องในการทำบัญชีไม่เรียบร้อย มิใช่การทุจริตเกิดขึ้น ดังปรากฏรายละเอียดของความเห็นคณะกรรมการ ตามเอกสารหมาย ป.จ.6 ดังนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอให้รับฟังได้เป็นที่แน่ชัดว่าจำเลยนี้ได้ทำการทุจริตเบียดบังยักยอกเอาเงินของทางราชการไปจริงดังโจทก์ฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบแสดงถึงความบริสุทธิ์นั้นอีกต่อไป”

พิพากษายืน

Share