คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2004/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ค้นพบของกลางในกระเป๋าเสื้อด้านขวาและในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดตามฟ้องโดยมิได้ถามค้านพยานโจทก์และนำพยานของตนเข้าสืบไม่มีพยานหลักฐานใดที่ชี้ได้ว่าพบของกลางที่เสื้อซึ่งแขวนอยู่ที่สระน้ำหรือจำเลยให้การรับสารภาพเพราะมีผู้แนะนำที่จำเลยฎีกาว่าพบของกลางที่เสื้อซึ่งแขวนที่สระน้ำเป็นเพียงข้ออ้างมาลอยๆจึงรับฟังไม่ได้ โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่85(พ.ศ.2536)เรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท1หรือประเภท2ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518ลงวันที่19มกราคม2536ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศตามมาตรา6(7ทวิ)ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยทราบแล้วจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องดังนี้การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบประกอบคำรับสารภาพและพยานเบิกความเพียงแต่ระบุการกระทำของจำเลยโดยมิได้เบิกความถึงประกาศก็เป็นการเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้วและประกาศดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเพราะกฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจประกาศแม้ประกาศฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิกโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่92(พ.ศ.2538)ลงวันที่3เมษายน2538ซึ่งประกาศฉบับใหม่นี้ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าให้คำนวณปริมาณเมทแอมเฟตามีนเมื่อเป็นสารบริสุทธิ์แล้วซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยกว่าจึงต้องใช้ประกาศฉบับหลังบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2537 เวลากลางวันจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน300 เม็ด น้ำหนัก 19.8 กรัม ซึ่งมีปริมาณเกินกว่า 0.500 กรัมอันเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยมิได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ตำบลพังตรุอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ตามวันเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 59, 60, 62, 89, 106 ทวิ, 116 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ทั้งสองบทมีโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี กับให้ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้และยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 300 เม็ด น้ำหนัก 19.8 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 1.80 กรัม ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าขณะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยกำลังอาบน้ำ เมทแอมเฟตามีนของกลางได้ที่เสื้อผ้าที่แขวนอยู่ริมสระน้ำ จำเลยให้การรับสารภาพเนื่องจากทนายความคนเดิมบอกให้รับ ข้อฎีกาของจำเลยหากเป็นจริง ทำให้เห็นว่าของกลางอาจไม่ใช่ของที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเกี่ยวกับปัญหานี้โจทก์นำสืบประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า สิบตำรวจโทชัยรัตน์ แม้นสุข กับพวกไปค้นบ้านนายสมชายซึ่งอยู่ใกล้บ้านจำเลยเมื่อจำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจได้วิ่งไปที่สระน้ำลักษณะตกใจเจ้าพนักงานตำรวจติดตามไปพบจำเลยลงไปอยู่ในสระน้ำ จึงบอกให้ขึ้นมาและตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนในกระเป๋าเสื้อด้านขวาจำนวน300 เม็ด น้ำหนัก 19.8 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.80 กรัมจึงดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อขายและเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จำเลยให้การรับสารภาพพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าสิบตำรวจโทชัยรัตน์เบิกความว่า เมื่อจับจำเลยได้ค้นพบของกลางในกระเป๋าเสื้อด้านขวา ชั้นสอบสวนจำเลยรับว่าของกลางอยู่ในกระเป๋าเสื้อด้านขวา และในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดตามฟ้องโดยมิได้ถามค้านพยานโจทก์และนำพยานของตนเข้าสืบ ไม่มีพยานหลักฐานใดเลยที่ชี้ว่าได้พบของกลางที่เสื้อซึ่งแขวนอยู่ที่สระน้ำ หรือจำเลยให้การรับสารภาพเพราะมีผู้แนะนำ เป็นเพียงข้ออ้างมาลอย ๆ ในชั้นฎีกา ซึ่งรับฟังไม่ได้ว่าจะเป็นดังที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าพบของกลางในกระเป๋าเสื้อที่จำเลยสวมใส่อยู่ จำเลยจึงเป็นผู้มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายตามฟ้อง และจำเลยมีไว้ในครอบครอง 300 เม็ดคำนวณน้ำหนักเมทแอมเฟตามีนเป็นสารบริสุทธิ์ 1.80 กรัม เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด กฎหมายกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี ศาลลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 ปีเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปมีว่า ศาลจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้นำสืบถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2536) ศาลจะนำประกาศมาลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลย และพยานเบิกความถึงการกระทำของจำเลยโดยมิได้เบิกความถึงประกาศฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2536) ว่าได้มีการประกาศจริงหรือไม่ แต่ในฟ้องได้บรรยายถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2536) เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518ลงวันที่ 19 มกราคม 2536 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศตามมาตรา 6(7 ทวิ) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับและจำเลยทราบแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังนั้นการที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพและพยานเบิกความเพียงแต่ระบุการกระทำของจำเลยโดยมิได้เบิกความถึงประกาศดังกล่าวก็ตาม เมื่อพิจารณาประกอบกับคำฟ้องบรรยายชัดแจ้งถึงประกาศพร้อมรายละเอียดของวันที่ได้ประกาศ และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็เป็นการเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้ว และศาลสามารถตรวจสอบรายละเอียดในประกาศได้ถ้าการกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย และโดยเฉพาะประกาศดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเพราะกฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจประกาศศาลย่อมลงโทษจำเลยตามประกาศดังกล่าวได้ และแม้ว่าขณะนี้ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538) ลงวันที่3 เมษายน 2538 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2536) ซึ่งตามประกาศฉบับใหม่ระบุไว้ชัดแจ้งว่า ให้คำนวณปริมาณเมทแอมเฟตามีนเมื่อเป็นสารบริสุทธิ์แล้ว ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยกว่าประกาศฉบับที่ 85(พ.ศ. 2536) จึงต้องใช้ประกาศฉบับหลังบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 อย่างไรก็ดีปรากฏว่าคดีนี้จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หนัก 1.80 กรัม ยังเกินกว่าปริมาณที่ประกาศฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538) กำหนดไว้ว่าไม่เกิน0.500 กรัม จำเลยยังคงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share