แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 นั้น ต้องได้ความว่าเป็นกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ หรือข้าราชการ หรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านมีสถานะถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวหรืออ้างมาตราดังกล่าวมาในฟ้อง จึงไม่อาจจะวางโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 จึงเป็นการไม่ชอบ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 67, 91, 97, 100, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 กับให้ริบของกลางและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับว่า มีเมทแอมเฟตามีน 5 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2552 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ของกลางอื่นให้คืนแก่เจ้าของข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2552 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 100 จำคุก 12 ปี และปรับ 1,200,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี และปรับ 800,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้คุมความประพฤติ 1 ปี นับตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยที่ 2 ฟัง โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยที่ 2 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรมีกำหนด 15 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 บัญญัติว่า “กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้าราชการ หรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านจึงหาใช่บุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าวไม่ แต่สถานะของจำเลยที่ 1 ถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวหรืออ้างมาตราดังกล่าวมาในฟ้อง จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (2) 66 วรรคสอง จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 266,666.66 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6