คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2002/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อายุความในการเรียกค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 เป็นเรื่องอายุความเฉพาะกรณีที่กรมศุลกากรเรียกเงินอากรขาดเพราะเหตุตาม มาตรา 10 วรรคสาม แต่กรณีที่จำเลยเจตนาหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุความทั่วไปเกี่ยวกับการเรียกค่าภาษีอากร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167 เดิม คือสิบปี นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม ค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งเป็นภาษีการค้าด้วยนั้น ประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167เดิม และ 169 เดิม มีอายุความสิบปี นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยชำระค่าภาษีและวางเงินประกันค่าภาษีวันที่ 24 ธันวาคม 2518 อายุความจริงเริ่มนับแต่วันนี้เป็นต้นไป ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 เบญจ (1)และประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) การกระทำผิดในทางอาญา หาได้ก่อให้เกิดหนี้ค่าภาษีอากรในทางแพ่งในขณะเดียวกับการกระทำผิดทางอาญาโดยตรงไม่ แต่หนี้เกิดเพราะการนำเข้าสำเร็จและกฎหมายให้ถือว่าได้ขายสินค้านั้น ๆ คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา อายุความคดีอาญาถึงที่สุดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยเป็นผู้ประกอบการค้า ได้นำเอาเครื่องรับวิทยุ1,000 เครื่อง เข้ามาในราชอาณาจักร และยื่นใบขนสินค้าเข้าและแบบแสดงรายการการค้า โดยสำแดงเท็จในรายการราคาสินค้าที่นำเข้า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เห็นว่าราคาสินค้าที่สำแดงน่าจะมิใช่ราคาอันแท้จริง จึงให้ชำระค่าภาษีอากรตามราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไปก่อน และให้วางเงินประกันภาษีอากรและชักตัวอย่างสินค้าเพื่อตรวจสอบแล้วปล่อยสินค้าให้จำเลยทั้งสองรับไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2518 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าราคาสินค้าที่จำเลยทั้งสองซื้อเข้ามาสูงกว่าที่จำเลยสำแดง โจทก์ร้องทุกข์กล่าวหาจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 99 เจ้าพนักงานของโจทก์จึงประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรเพิ่ม อากรขาเข้าเพิ่ม 15,262.50บาท ภาษีการค้า 15,865.37 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 1,586.54 บาทเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยที่ 1ทราบและชำระ จำเลยที่ 1 เพิกเฉย และมิได้อุทธรณ์การประเมินจำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1ต่อเดือน ของค่าอากรที่ต้องชำระนับแต่วันที่ส่งมอบของ(วันตรวจปล่อย) คือวันที่ 24 ธันวาคม 2518 จนถึงวันที่นำเงินภาษีอาการมาชำระ คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 27,318.98บาท ต้องเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระเป็นเงิน 15,865.37 บาทและต้องเสียภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าเป็นเงิน 1,586.54 บาท รวมค่าภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มและเงินเพิ่มเป็นเงิน 77,485.25 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากร 77,485.25บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนในต้นเงินอากรขาเข้า 15,262.50 บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเท็จ แต่ได้ยื่นโดยถูกต้องตามความจริงโจทก์ทั้งสองไม่เคยทวงถามไม่เคยแจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยทั้งสองนำเงินภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มไปชำระ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระภาษีอากรเพิ่มและเงินเพิ่ม ฟ้องโจทก์เกิน 10 ปี จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองแถลงรับว่า ราคาสินค้าที่โจทก์ประเมินเป็นราคาที่ถูกต้อง โจทก์แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้วและคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้อง ขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าอากรและเงินเพิ่มอากรขาเข้ารวม 42,581.48 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนในต้นเงินอากรขาเข้า 15,262.50 บาท เป็นรายเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เงินค่าอากรขาเข้าหรือภาษีศุลกากรนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 10 วรรคแรก บัญญัติว่า “บรรดาค่าภาษีนั้นให้เก็บตามบทพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรการเสียค่าภาษีให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้” และมาตรา 41 บัญญัติว่า “ถ้ามีความจำเป็นด้วยประการใด ๆ เกี่ยวด้วยการศุลกากรที่จะกำหนดเวลาเป็นแน่นอนว่า การนำของใด ๆ เข้ามาจะพึงถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อไรไซร้ ท่านให้ถือว่า การนำของเข้ามาเป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่ายของจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง” จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้นำเครื่องรับวิทยุจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรในเขตท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2518 ซึ่งอายุความในการเรียกค่าภาษีอากรนั้นพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10วรรคสาม บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเอาเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณน้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น ให้มีอายุความสิบปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก” ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องอายุความเฉพาะกรณีที่กรมศุลกากรเรียกเงินอากรขาดเพราะเหตุดังกล่าว โดยมีอายุความสิบปีหรือสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออกแต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเจตนาหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปที่เกี่ยวกับการเรียกเอาค่าภาษีอากรตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167 เดิม (มาตรา 193/31 ที่แก้ไขใหม่) ที่บัญญัติว่า”สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากร ท่านให้มีกำหนดอายุความสิบปี” และการนับอายุความก็ต้องให้นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งหนี้ค่าภาษีอากรขาเข้าในส่วนที่ขาดนี้เป็นสิทธิเรียกร้องที่อาจบังคับได้ในวันที่โจทก์ที่ 1 ตรวจพบการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ไม่ปรากฎว่าโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจพบการหลีกเลี่ยงภาษีของจำเลยวันใด คงมีเพียงว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าเท็จหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร โจทก์ที่ 1 ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อจำเลย และศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำเลยเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2524 โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2532เท่านั้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจพบว่าจำเลยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2518ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1พฤศจิกายน 2533 จึงเกินกำหนดสิบปีแล้ว คดีของโจทก์ที่ 1ส่วนนี้จึงขาดอายุความ
ส่วนค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งถือเป็นภาษีการค้าด้วยนั้น ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167 เดิม (มาตรา 193/31 ที่แก้ไขใหม่ มาตรา 169เดิม (มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) คือ มีอายุความสิบปีนับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 เบญจ (1) และประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) กำหนดให้ผู้นำของเข้าชำระภาษีการค้าในวันที่ชำระอากรขาเข้าหรือวางหลักประกันหรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเงินอากรขาเข้า ซึ่งก็คือวันที่24 ธันวาคม 2518 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าภาษีอากรตามที่สำแดงไว้ และวางเงินเพื่อประกันค่าภาษีอากร แล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยทั้งสองไป อายุความของค่าภาษีการค้านี้มีกำหนดสิบปีเริ่มนับแต่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2518 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งนับถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 เกินกำหนดเวลาสิบปีคดีจึงขาดอายุความ
ค่าภาษีการค้านั้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 จัตวา,78 เบญจ (1) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า(ฉบับที่ 20 ) ถือว่าผู้นำของเข้าได้ขายสินค้านั้น ๆ ในวันที่ชำระอากรขาเข้าหรือวางหลักประกันหรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเงินอากรขาเข้า จึงเป็นอันก่อให้เกิดหนี้และจะต้องชำระค่าภาษีการค้าในวันเดียวกันดังวินิจฉัยข้างต้น แต่การหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรโดยเฉพาะในคดีนี้จำเลยทั้งสองได้สำแดงราคาสินค้าในวันที่ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ออกใบขนส่งขนสินค้า จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำโดยมีเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐจึงจะเป็นความผิดทางอาญา การกระทำผิดในทางอาญานี้หาได้ก่อให้เกิดหนี้ค่าภาษีอากรในทางแพ่งในขณะเดียวกับการกระทำผิดในทางอาญาโดยตรงไม่ แต่หนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวเกิดเพราะการนำเข้าสำเร็จ และกฎหมายให้ถือว่าได้ขายสินค้านั้น ๆ ดังกล่าวข้างต้น คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง หนี้ค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาลจึงมีอายุความสิบปี นับแต่วันที่ 24ธันวาคม 2518 หาใช่มีอายุความสิบปี นับแต่เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์หรือไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share