คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20005-20007/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศปลอมตาม ป.อ. มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247 อันเป็นความผิดตามฟ้องคือ ผู้ซึ่งมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศนั้นต้องได้ธนบัตรนั้นมาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม ซึ่งการรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอมดังกล่าวเป็นเรื่องของเจตนาซึ่งอยู่ภายใน การพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่จึงจำต้องอาศัยพฤติการณ์ของจำเลยและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องบ่งชี้ การที่จำเลยนำธนบัตรปลอมไปทยอยแลกหลายครั้ง ครั้งละไม่กี่ฉบับ และแลกกับธนาคารหลายแห่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน เป็นพฤติการณ์ที่ผิดปกติวิสัยไปจากที่สุจริตชนพึงกระทำ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้การแลกธนบัตรของจำเลยเป็นที่สังเกตอันจะทำให้มีการตรวจสอบธนบัตรของกลางอย่างละเอียดว่าเป็นธนบัตรปลอมหรือไม่ บ่งชี้ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าธนบัตรที่จำเลยนำไปแลกนั้นเป็นธนบัตรปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ความผิดฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศอันตนได้มาโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นธนบัตรปลอมตาม ป.อ. มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247 เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการรับธนบัตรนั้นไว้เพื่อนำออกใช้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นธนบัตรปลอม ไม่ใช่เมื่อมีการนำออกใช้ แม้จะนำออกใช้หลายคราวจำเลยก็มีความผิดเพียงกรรมเดียว

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 240, 244, 247, 248 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247, 83 จำคุก 3 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบธนบัตรปลอมของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายพนม นางสาวศิริพร นางสาวจินตนา นายเรวัต พนักงานของผู้เสียหายทั้งสามและนางสาวพจนา พนักงานของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยเจริญนคร เป็นประจักษ์พยานเบิกความได้ความว่า จำเลยเป็นผู้นำธนบัตรของรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาปลอมมาแลกเป็นเงินไทยกับผู้เสียหายทั้งสามและธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) รวม 7 ครั้ง ส่วนจำเลยมีตัวจำเลย นางคำผัด มารดาจำเลย และนายฉัตรชัย น้องชายจำเลย มาเบิกความว่า ธนบัตรที่จำเลยนำมาแลกนั้นเป็นของนางสาวนฤมล เพื่อนบ้านของจำเลย ซึ่งนำธนบัตรของประเทศสหรัฐอเมริกาปึกหนึ่งมาให้นายฉัตรชัยดูแล้วแบ่งธนบัตรให้นายฉัตรชัยครึ่งหนึ่งประมาณ 20 ฉบับ โดยนางสาวนฤมล ไม่ยอมบอกว่าได้ธนบัตรดังกล่าวมาจากไหน ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 เวลาประมาณ 4 นาฬิกา จำเลยกลับมาจากต่างจังหวัด นายฉัตรชัยให้ธนบัตรดังกล่าวแก่จำเลย 1 ฉบับ โดยบอกจำเลยว่าเป็นธนบัตรที่นางสาวนฤมลนำมาให้นายฉัตรชัย จำเลยนำไปแลกเป็นเงินไทยที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเจริญนคร ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านจำเลยประมาณ 100 เมตร ในวันเดียวกันนั้นเวลาประมาณ 11 นาฬิกา ปรากฏว่าพนักงานธนาคารตรวจสอบธนบัตรแล้วให้แลกเป็นเงินไทยได้ จำเลยนำเงินไทยที่แลกได้มอบให้นายฉัตรชัยแล้ว ต่อมาในช่วงเที่ยงหรือบ่ายของวันนั้นเองนางสาวนฤมลมาสอบถามจำเลยว่าแลกเป็นเงินไทยได้หรือไม่ เมื่อทราบว่าแลกได้นางสาวนฤมล มอบธนบัตร ฉบับละ 100 ดอลลาร์ ให้จำเลยไปแลกอีก 4 ฉบับในวันนั้นเอง และหลังจากวันนั้นก็มอบธนบัตรให้จำเลยไปแลกอีกหลายครั้งจนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2548 โดยนางสาวนฤมลแนะนำจำเลยว่าให้จำเลยไปแลกกับหลายธนาคารเนื่องจากเกรงว่าพนักงานของธนาคารจะเข้าใจว่าขโมยเงินของใครมา จำเลยนำธนบัตรไปแลกให้นางสาวนฤมลโดยไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม จำเลยเพิ่งรู้เมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม 2548 เนื่องจากมีพนักงานของธนาคารมาแจ้งจำเลย จำเลยจึงพยายามติดต่อนางสาวนฤมล แต่ไม่สามารถติดต่อได้เพราะนางสาวนฤมลหลบหนีไปแล้ว เห็นว่า องค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247 อันเป็นความผิดตามฟ้องคือ ผู้ซึ่งมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศนั้นต้องได้ธนบัตรนั้นมาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม ซึ่งการรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอมดังกล่าวเป็นเรื่องของเจตนาซึ่งอยู่ภายใน ดังนั้น การพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่จึงจำต้องอาศัยพฤติการณ์ของจำเลยและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องบ่งชี้ สำหรับข้อเท็จจริงในคดีนี้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นขณะจำเลยได้รับธนบัตรของกลางมา แต่โจทก์มีพยานหลักฐานซึ่งจำเลยไม่โต้แย้งเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยในการแลกธนบัตรของกลางเป็นเงินไทยว่า จำเลยนำธนบัตรปลอมไปทยอยแลกหลายครั้ง ครั้งละไม่กี่ฉบับ และแลกกับธนาคารหลายแห่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยในวันแรกจำเลยนำไปแลกรวม 6 ฉบับ ครั้งแรกแลกเพียง 1 ฉบับ เมื่อแลกได้แล้ว อีกประมาณ 10 นาที ก็นำอีก 5 ฉบับ ไปแลกกับธนาคารแห่งที่สอง ในวันรุ่งขึ้นก็นำไปแลกอีกกับธนาคาร 3 แห่ง เริ่มตั้งแต่เวลา 10.48 นาฬิกา แลก 4 ฉบับเวลา 11 นาฬิกา แลก 5 ฉบับ และเวลา 12.46 นาฬิกา แลก 5 ฉบับ และหลังจากนั้น 5 วัน ก็นำไปแลกอีก 2 ครั้ง กับธนาคารสองแห่ง โดยมีระยะเวลาในการแลกห่างกันประมาณ 20 นาที ที่จำเลยอ้างเหตุผลที่จำเลยทยอยแลกด้วยวิธีดังกล่าวว่า ธนบัตรของกลางเป็นของนางสาวนฤมล จำเลยไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม นางสาวนฤมลขอให้จำเลยช่วยแลกเป็นเงินไทยให้โดยนางสาวนฤมลทยอยให้ธนบัตรของกลางแก่จำเลยนั้น จำเลยมีแต่เพียงตัวจำเลยมาเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ โดยจำเลยมิได้นำสืบถึงเหตุผลที่นางสาวนฤมล ต้องให้จำเลยนำธนบัตรไปแลกแทน ทั้งๆ ที่นางสาวนฤมลก็สามารถนำธนบัตรไปแลกกับธนาคารด้วยตนเองได้ ทั้งเหตุผลของจำเลยก็ขัดกับข้อเท็จจริงซึ่งได้ความว่า ระยะเวลาในการแลกแต่ละครั้งห่างกันเพียงไม่กี่นาทีอันแสดงว่าขณะนั้นธนบัตรของกลางอยู่ที่จำเลยแล้วเพียงแต่จำเลยประสงค์จะนำไปแลกต่างธนาคารกันเท่านั้น และที่จำเลยอ้างว่านางสาวนฤมลแนะนำจำเลยว่าให้จำเลยไปแลกกับหลายธนาคารเนื่องจากเกรงว่าพนักงานของธนาคารจะเข้าใจว่าขโมยเงินของใครมาก็เป็นเรื่องไม่มีเหตุผลสนับสนุน และหากนางสาวนฤมลแนะนำเช่นนั้นจริง จำเลยก็ควรสงสัยในพฤติกรรมของนางสาวนฤมล และปฏิเสธไม่ยอมนำธนบัตรไปแลกให้ ข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยทยอยแลกธนบัตรครั้งละเล็กน้อยโดยแลกต่างธนาคารในเวลาใกล้เคียงกัน อันเป็นพฤติการณ์ที่ผิดปกติวิสัยไปจากที่สุจริตชนพึงกระทำ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้การแลกธนบัตรของจำเลยเป็นที่สังเกตอันจะทำให้มีการตรวจสอบธนบัตรของกลางอย่างละเอียดว่าเป็นธนบัตรปลอมหรือไม่ บ่งชี้ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าธนบัตรที่จำเลยนำไปแลกนั้นเป็นธนบัตรปลอมแต่จำเลยประสงค์จะนำออกใช้ จำเลยจึงต้องการทดสอบว่าพนักงานของธนาคารจะตรวจพบหรือไม่ โดยจำเลยเริ่มนำธนบัตรของกลางออกแลกครั้งแรกเพียง 1 ฉบับ ก่อน และแม้จะมีความเสี่ยงในการถูกติดตามตัวเนื่องจากธนาคารที่รับแลกธนบัตรจะต้องขอตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แลก แต่จำเลยอาจหาทางออกในเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้วก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงได้ความจากนางสาวศิริพร ซึ่งเป็นพยานที่รับแลกธนบัตรกับจำเลยในครั้งแรกว่า ในวันนั้นจำเลยมอบบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งพยานเห็นว่าชำรุดให้พยาน พยานจึงปฏิเสธการรับแลกไป แต่เพื่อนร่วมงานของพยานแจ้งว่าจำเลยเป็นพนักงานของบริษัทที่เป็นลูกค้าของธนาคาร พยานจึงให้จำเลยแลกเงินได้ และหลังจากสามารถแลกเงินได้ในครั้งแรกแล้ว จำเลยย่อมเกิดความมั่นใจว่าพนักงานของธนาคารไม่สามารถตรวจสอบพบว่าเป็นธนบัตรปลอม จำเลยจึงทยอยแลกเพิ่มเติมครั้งละ 4 ถึง 5 ฉบับ อีกถึง 6 ครั้ง พฤติการณ์ของจำเลยจากพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงและแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยรู้ว่าธนบัตรของกลางที่จำเลยได้รับมานั้นเป็นธนบัตรปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ทุกครั้งที่จำเลยนำธนบัตรปลอมออกใช้ย่อมแสดงว่าจำเลยมีธนบัตรปลอมไว้ในครอบครองเพื่อนำออกใช้ก่อน จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ทุกครั้งที่จำเลยนำธนบัตรของกลางไปแลก เป็นความผิด 5 กระทงต่างกัน เห็นว่า ความผิดฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศอันตนได้มาโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นธนบัตรปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247 เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการรับธนบัตรนั้นไว้เพื่อนำออกใช้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นธนบัตรปลอม ไม่ใช่มีการนำออกใช้ แม้จะนำออกใช้หลายคราวจำเลยก็มีความผิดเพียงกรรมเดียว เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยรับธนบัตรของกลางมาคนละคราวกัน คงมีเพียงคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเอง ทั้งยังระบุรายละเอียดในเรื่องนี้ไม่ครบถ้วน จนไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงได้แน่ชัดว่าจำเลยได้รับธนบัตรของกลางมาคราวเดียวหรือหลายคราว จึงรับฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยได้รับธนบัตรของกลางมาในคราวเดียว อันเป็นความผิดกรรมเดียว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำคุก 1 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน ริบของกลาง

Share