คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำไม้ยางพาราซึ่งเป็นไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาตบรรทุกรถยนต์ออกไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้วนำเคลื่อนที่ไปโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับ โดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลก็ย่อมจะพิพากษายกฟ้องของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา185
คำว่า ‘ไม้ที่ทำ’ ตามมาตรา 38(2) อยู่ในความหมายของ คำว่า ‘ทำไม้’ ตามมาตรา 4(5) คือ การตัดฟัน การ โค่น ลิดเลื่อยผ่าถาก ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่าหรือ นำออกจากป่าด้วยประการใด ๆ และหมายความรวมถึงการกระทำดังกล่าวกับไม้สักหรือไม้ยางที่ขึ้นอยู่ในที่ดินซึ่งมิใช่ป่า หรือการนำไม้สักหรือไม้ยางออกจากที่ดินที่ไม้นั้น ๆ ขึ้นอยู่ด้วย เห็นได้ว่า การทำไม้นั้นนอกจากไม้สักหรือไม้ยางแล้วหมายถึงเฉพาะไม้ที่อยู่ในป่าเท่านั้น การนำไม้ที่ทำเคลื่อนที่ตามมาตรา 38(2)ซึ่งเมื่อนำออกมาถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้วจะต้องเสียค่าธรรมเนียมและเมื่อจะนำเคลื่อนที่ต่อไปจะต้องมีใบเบิกทางของเจ้าพนักงานไปด้วยตามมาตรา 39 ต้องเป็นไม้ที่ทำจากไม้ในป่านั่นเอง ข้อเท็จจริงที่ว่าไม้ของกลางเป็นไม้ที่ทำจากป่าหรือไม่ จึงเป็นสารสำคัญแห่งคดีเมื่อโจทก์แถลงว่าไม่ทราบว่าไม้(ยางพารา)ของกลางเป็นไม้ที่ได้มาจากป่าหรือไม่ ศาลจึงลงโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้นำไม้ยางพาราแปรรูป 130 แผ่น ซึ่งเป็นไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาตบรรทุกรถยนต์จากจังหวัดตราดไปยังจังหวัดจันทบุรี ออกไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้วเคลื่อนที่ต่อไปโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับ โดยไม่รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานป่าไม้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 39, 71 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 5 ของกลางคืนเจ้าของ

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยจะมีความผิดตามมาตรา 39 นั้นต้องตกอยู่ภายในบังคับของมาตรา 38 ไม้ของกลางที่จำเลยนำเคลื่อนที่ไม่ใช่ไม้ที่ทำหรือนำมาจากป่า จำเลยนำเคลื่อนที่ได้โดยไม่ต้องมีใบเบิกทางของเจ้าพนักงานกำกับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง ยกคำขอให้คืนของกลางเนื่องจากศาลยังมิได้สั่งริบของกลาง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบถ้วนตามกฎหมายที่หาว่าจำเลยกระทำความผิดและขอให้ลงโทษจำเลยทั้งจำเลยให้รับสารภาพตามฟ้องชอบที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามฟ้องนั้น เห็นว่าที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องหรือไม่ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 คือเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดีการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความก็ดีมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ศาลต้องยกฟ้องปล่อยจำเลยไป หาใช่เมื่อจำเลยรับสารภาพตามฟ้องศาลต้องฟังว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องและพิพากษาลงโทษจำเลยดังฎีกาของโจทก์ไม่

เกี่ยวกับฎีกาของโจทก์ที่ว่า คำว่า “ไม้ที่ทำ” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 38(2) อยู่ในความหมายของคำว่า “ทำไม้” ตามมาตรา 4(5) ของพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่นั้น เห็นว่า “ไม้ที่ทำ” ย่อมเป็นผลที่มาจากการทำไม้ กล่าวคือต้องมีการทำไม้จึงจะมีไม้ที่ทำ คำว่า “ไม้ที่ทำ” ตามมาตรา 38(2) จึงเป็นคำที่อยู่ในความหมายของคำว่า “ทำไม้” ตามมาตรา 4(5) นั่นเอง คำว่า “ทำไม้” นั้น มาตรา 4(5) บัญญัติว่า การทำไม้หมายความว่า ตัด ฟัน การ โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่า หรือนำออกจากป่าด้วยประการใด ๆ และหมายความรวมถึงการกระทำดังกล่าวกับไม้สัก หรือไม้ยางที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า หรือการนำไม้สักหรือไม้ยางออกจากที่ดินที่ไม้นั้น ๆ ขึ้นอยู่ด้วย ความที่ว่าหมายความรวมถึงการกระทำต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้กับไม้สัก หรือไม้ยางที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า หรือการนำไม้สักหรือไม้ยางออกจากที่ดินที่ไม้นั้น ๆ ขึ้นอยู่ด้วย แสดงให้เห็นชัดว่า นอกจากไม้สักหรือไม้ยางแล้ว การทำไม้ตามกฎหมายนี้หมายถึงการกระทำต่าง ๆ เหล่านั้นต่อไม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไม้หวงห้ามซึ่งผู้ทำไม้จะทำได้โดยต้องได้รับอนุญาต หรือไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้าม ซึ่งผู้ทำไม้ทำได้โดยไม่ต้องรับอนุญาต เฉพาะแต่ไม้ที่อยู่ในป่าเท่านั้น เห็นได้ว่าที่จะเป็นการนำไม้ที่ทำเคลื่อนที่ตามมาตรา 38(2) ซึ่งเมื่อนำออกไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้วจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา 25 และเมื่อจะนำเคลื่อนที่ต่อไป จะต้องมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไปด้วย ตามมาตรา 39 ต้องเป็นไม้ที่ทำจากไม้ในป่านั่นเอง ข้อเท็จจริงที่ว่าไม้ของกลางเป็นไม้ที่ทำจากป่าหรือไม่จึงเป็นข้อสารสำคัญแห่งคดีที่จะวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อปรากฏในทางพิจารณาตามคำแถลงของโจทก์ว่าโจทก์ไม่ทราบว่าไม้ของกลาง (ไม้ยางพารา) เป็นไม้ที่ได้มาจากป่าหรือไม่ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ คดีก็ลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share