คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1524/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การโต้เถียงเรื่องวันเวลาในการเข้าแย่งการครอบครองที่พิพาทว่าเมื่อใดเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันอาจให้เช่าได้ในขณะที่ยื่นคำฟ้องเดือนละไม่เกิน 10,000 บาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยสามารถยกปัญหาข้อกฎหมายนั้นขึ้นอุทธรณ์ได้ แต่จำเลยหาได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในอุทธรณ์ของจำเลยไม่ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเองกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์ในอัตราเดือนละ500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดตราจอง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่พิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนแนวรั้วออกไปจากที่พิพาท และส่งมอบคืนให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเรื่องพิพาทเกี่ยวกับที่พิพาทกันมาหลายปีแล้ว ก่อนจะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2531 ถือว่าโจทก์และจำเลยได้พิพาทเรื่องนี้และแย่งการครอบครองที่พิพาทกันมากว่า 1 ปีแล้ว เมื่อโจทก์มาฟ้องเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงในการเข้าแย่งการครอบครองที่พิพาทว่าเมื่อใด คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันอาจให้เช่าได้ในขณะที่ยื่นคำฟ้องเดือนละ 500 บาท ซึ่งไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาท จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่โจทก์จำเลยไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยจึงมีสิทธิยกปัญหาเช่นว่านี้ต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยทั้งสองสามารถยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ แต่จำเลยทั้งสองหาได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไม่ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share