คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1999/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยก่อสร้างเขื่อนเพื่อกั้นดินในเขตติดต่อที่ดินโจทก์จำเลยมิให้พังทลายลงโดยไม่ได้ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายซึ่งเกิดจากการละเมิดโดยตรงจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448วรรคหนึ่งซึ่งมีอายุความเพียง1ปีและในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงใช้อายุความตามหลักทั่วไปตามมาตรา193/30ซึ่งมีอายุความ10ปี โดยหลักทั่วไปแล้วผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา428เมื่อจำเลยเป็นผู้กำหนดว่าจะขุดดินบริเวณใดและจำเลยร่วมได้ทำตามคำสั่งของจำเลยเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์พังทลายลงจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์ฟ้องขอให้สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นดินยาว180เมตรความประสงค์ของโจทก์ต้องการที่จะให้ที่ดินอยู่ในสภาพเดิมไม่พังทลายลงไปในที่ดินของจำเลยเท่านั้นซึ่งการสร้างเขื่อนก็เป็นวิธีการหนึ่งที่โจทก์เห็นว่าจะกั้นดินไม่ให้พังทลายลงแต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการสร้างเขื่อนเกินความจำเป็นจึงได้ใช้วิธีถมดินแล้วบดอัดให้แน่นเพื่อป้องกันมิให้ที่ดินของโจทก์พังทลายลงไปในที่ดินของจำเลยนั้นศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำได้ไม่เกินคำขอของโจทก์แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ถมดินระยะยาวเกินกว่า180เมตรเป็นการเกินคำขอของโจทก์จึงไม่อาจทำได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 11727จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 11728 ซึ่งด้านทิศตะวันออกอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2531 โจทก์พบว่าที่ดินของโจทก์ด้านที่อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยพังทลายลงไปในที่ดินของจำเลย เนื่องจากจำเลยขุดหน้าดินในที่ดินจำเลยจนเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ที่ติดต่อกันพังทลายลงไปในที่ดินของจำเลยและจำเลยยังขุดหน้าดินในที่ดินของจำเลยติดต่อมาจนถึงปัจจุบัน จนที่ดินของจำเลยมีลักษณะเป็นบ่อกว้างประมาณ 100 เมตร ยาวตลอดแนวเขตประมาณ 450 เมตร ลึกประมาณ 20 เมตร เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์พังทลายลงไปในที่ดินของจำเลยเป็นแนวยาวประมาณ 180 เมตรลึกเข้ามาในที่ดินของโจทก์เป็นความกว้างประมาณ 4 เมตร การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิของตนจนเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินเป็นเงินเดือนละ 1,000 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยแก้ไขแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นดิน โดยให้ใช้เสาคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงรูปตัวไอขนาด 0.30 x 0.30 15 เมตร ตอกลึกลงในที่ดินเป็นฐานรากใต้ดินของเขื่อนทุกระยะ 1 เมตรและใช้แผงกั้นดินคอนกรีตหนา 0.10 เมตร กั้นลึกตั้งแต่ระดับก้นบ่อถึงแนวพื้นดินปกติและใช้สมอยึดตัวเขื่อนทุกระยะ 3 เมตร ตลอดตัวเขื่อนโดยใช้สมอเสาคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 0.30 x 0.30 เมตร และเทคอนกรีตเสริมเหล็กทับหลังเขื่อนลงในที่ดินของจำเลยเป็นแนวตลอดความยาวของที่ดินที่พังทลาย 180 เมตร และให้ปรับถมที่ดินของโจทก์ตลอดแนวที่พังทลายให้เสมอแนวพื้นดินทั่วไปของโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติก็ให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะสร้างเขื่อนและปรับถมที่ดินของโจทก์แล้วเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ทำละเมิด จำเลยจ้างเหมานายไพโรจน์ อินทจันทร์ ให้ทำการขนย้ายดินและถมที่ ซึ่งหากมีความเสียหายเกิดแก่บุคคลภายนอกนายไพโรจน์ต้องรับผิดชอบเองเพราะเป็นการจ้างทำของ ที่ดินที่ขุดนั้นมีน้ำขังอยู่เต็มแล้วจึงเป็นไปไม่ได้ที่ที่ดินบริเวณรอบ ๆ จะพังลงมา หากเป็นเช่นนั้นการพังทลายจะต้องมีมากกว่านี้ การพังทลายของดินหากมีจริงก็มิใช่เกิดจากการขุดดิน หากแต่เกิดเองตามธรรมชาติ และเป็นการไกลเกินกว่าเหตุ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ค่าเสียหายและการสร้างเขื่อนคอนกรีตสูงเกินไป เกินความจำเป็นโจทก์รู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิดเกินกว่า 1 ปี ฟ้องจึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกนายไพโรจน์ อินทจันทร์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยร่วมไม่ได้เป็นผู้ขุดดินในที่ดินของจำเลย การขุดดินในที่ดินของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตในฐานะเจ้าของ การที่โจทก์ขอให้สร้างเขื่อนคอนกรีตเป็นการเกินความจำเป็นและไกลเกินกว่าเหตุขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันทำเขื่อนไม้กั้นดินพังในที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 11728 แขวงสีกัน (บ้านใหม่)เขตบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร เป็นแนวตลอดความยาวของที่ดินที่พังทลาย 180 เมตร และให้ร่วมกันปรับถมดินในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 11727 (ซึ่งอยู่ติดกับเขื่อนไม้) ตลอดแนวที่พังให้แน่นตามสภาพเดิม และเสมอแนวพื้นดินทั่วไปของโจทก์หากจำเลยและจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินการโดยให้จำเลยและจำเลยร่วมเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายคำขออื่นให้ยก
โจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันถมดินบริเวณริมเขตที่ดินของโจทก์ตามภาพถ่ายหมาย จ.6 แล้วบดอัดให้แน่นให้ได้ความหนาแน่นและระดับความสูงเท่ากับพื้นที่ดินของโจทก์โดยให้มีรัศมีการถมดินห่างจากเขตที่ดินของโจทก์ออกไปไม่น้อยกว่า5 เมตร ตลอดแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่มีการขุดเอาเนื้อดินออกไป(ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงระยะ 180 เมตร ที่โจทก์ขอให้ทำเขื่อนคอนกรีต)ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ที่ดินของโจทก์พังทลายลงไปในที่ดินของจำเลย ซึ่งมีการขุดดินออกไป ถ้าจำเลยและจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดให้บุคคลภายนอกดำเนินการ โดยให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 60,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลย และ จำเลยร่วม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11727 แขวงสีกัน(บ้านใหม่) เขตบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ซึ่งทางทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 11728เมื่อต้นปี 2531 จำเลยได้ว่าจ้างจำเลยร่วมให้ขุดดินในที่ดินของจำเลยด้านที่ติดกับที่ดินโจทก์เพื่อนำไปถมในโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรของจำเลย ที่ดินของโจทก์ด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยได้พังทลายลงไปในที่ดินของจำเลยเป็นความยาวประมาณ 180 เมตรตลอดแนวที่ดินของโจทก์จำเลยและลึกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ประมาณ4 เมตร ตลอดแนวในความยาวประมาณ 180 เมตร
ที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่ามีการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและจำเลยร่วมก่อสร้างเขื่อนเพื่อกั้นดินในเขตติดต่อที่ดินโจทก์จำเลยมิให้พังทลายลงโดยไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งเกิดจากการละเมิดโดยตรงจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอายุความเพียง 1 ปี และในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงใช้อายุความตามหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ10 ปี นอกจากนี้ได้ความว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2531 โจทก์ทราบว่าที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกซึ่งติดกับที่ดินของจำเลยพังทลายลงไปในที่ดินของจำเลยเนื่องจากจำเลยว่าจ้างให้จำเลยร่วมขุดหน้าดินในที่ดินของจำเลยเพื่อไปถมในโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรของจำเลยซึ่งจำเลยและจำเลยร่วมไม่มีพยานหลักฐานใดมาหักล้างว่าโจทก์รู้เรื่องละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิดก่อนวันที่25 มีนาคม 2531 จึงฟังว่า โจทก์รู้เรื่องละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิดในวันที่ 25 มีนาคม 2531 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่1 มีนาคม 2532 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีโจทก์เกี่ยวกับการละเมิดเรียกค่าเสียหายจึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ตามที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ขุดดินแต่ได้ว่าจ้างให้จำเลยร่วมเป็นผู้ดำเนินการถือว่าเป็นสัญญาจ้างทำของจำเลยไม่ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยร่วมได้กระทำลงส่วนจำเลยร่วมก็อ้างว่าได้ว่าจ้างให้นายประสงค์เป็นผู้ขุดดินจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดนั้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยและจำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินโจทก์และที่ดินจำเลยอยู่ติดกัน จำเลยได้ว่าจ้างให้จำเลยร่วมขุดดินในที่ดินของจำเลยด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์เพื่อนำดินไปถมในโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรของจำเลย จำเลยร่วมได้ให้คนงานของตนขุดดินในบริเวณที่จำเลยร่วมบอก ปรากฎว่าดินในเขตที่ดินของโจทก์ได้พังทลายลงไปในที่ดินของจำเลยตลอดแนวที่ดินของโจทก์จำเลยยาวประมาณ 180 เมตร และลึกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ประมาณ 4 เมตร โจทก์จำเลยและจำเลยร่วมได้เจรจากันแต่ตกลงกันไม่ได้ เห็นว่า การที่ที่ดินของโจทก์พังทลายลงเกิดจากการกระทำของคนงานของจำเลยร่วมที่ขุดดินใกล้เขตที่ดินของโจทก์มากเกินไปซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควร ถือเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งจำเลยร่วมจะต้องเป็นผู้รับผิด มีปัญหาว่าจำเลยจะต้องร่วมรับผิดหรือไม่ เห็นว่า โดยหลักทั่วไปแล้วผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 สำหรับกรณีของจำเลยได้ความจากคำเบิกความของจำเลยร่วมตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่าการขุดดินนี้จำเลยเป็นผู้กำหนดว่าจะขุดบริเวณใด เห็นได้ว่าจำเลยร่วมได้ทำตามคำสั่งของจำเลย แม้จะเป็นการจ้างทำของจำเลยก็จะต้องร่วมรับผิดด้วยตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น มีปัญหาต่อไปว่าโจทก์ขอให้สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นดินยาว 180 เมตรแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเป็นให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันถมดินแทนสร้างเขื่อนเป็นแนวยาวเกินกว่า 180 เมตร จะเป็นการเกินคำขอของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าความประสงค์ของโจทก์ต้องการที่จะให้ที่ดินอยู่ในสภาพเดิมไม่พังทลายลงไปในที่ดินของจำเลยเท่านั้นซึ่งการสร้างเขื่อนก็เป็นวิธีการหนึ่งที่โจทก์เห็นว่าจะกั้นดินไม่ให้พังทลายลง แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการสร้างเขื่อนเกินความจำเป็นจึงได้ใช้วิธีถมดินแล้วบดอัดให้แน่นเพื่อป้องกันมิให้ที่ดินของโจทก์พังทลายลงในที่ดินของจำเลยนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำได้ไม่เกินคำขอของโจทก์แต่ประการใด ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ถมดินระยะยาวเกินกว่า 180 เมตร เป็นการเกินคำขอของโจทก์จึงไม่อาจทำได้ ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันถมดินแล้วบดอัดให้แน่นตลอดแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่มีการขุดเอาเนื้อดินออกไปยาวประมาณ 180 เมตร จำเลยและจำเลยร่วมไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 60,000 บาท ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share