แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นหัวหน้าหน่วยงานในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอันเป็นหน่วยงานของรัฐตามบทบัญญัติมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ที่ระบุให้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบการบริหารทั่วไปซึ่งงานตรวจเงินแผ่นดิน จึงเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารลับได้ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 49 ซึ่งออกตามความในมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 164, 328, 86, 91 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 15, 16, 17, 20, 40 และ 41
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลสำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 164 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 15, 16, 17, 20, 41 สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้ประทับฟ้อง ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 41 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 164 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย(ที่ถูก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น)
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นถึงจำเลยที่ 2 ก่อนที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณา ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.15 และ จ.20 ถึง จ.23 ทั้งเอกสารหมาย จ.3 ล.23 และ ล.24 เป็นรายงานผลการตรวจสอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งมาตรา 27 วรรคสอง และมาตรา 43 ระบุให้เป็นหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินยังไม่ได้สั่งการให้แจ้งการตรวจสอบ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงไม่มีอำนาจหน้าที่แจ้งผลการตรวจสอบหรือมอบหมายให้ผู้ใดเปิดเผยผลการตรวจสอบในส่วนที่เป็นความเห็นได้นั้น เห็นว่า นอกจากรายงานตามเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.24 และรายงานตามเอกสารหมาย ล.23 หรือ ล.25 ที่จำเลยที่ 1 ส่งให้ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองวุฒิสภาและจำเลยที่ 2 นั้นเป็นเพียงรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีร้องเรียนการใช้จ่ายเงินในโครงการศูนย์ขวัญน่าน และเป็นการทำหนังสือชี้แจงตามหนังสือของวุฒิสภาตามที่ปรากฏข้อความอ้างถึงหนังสือของวุฒิสภาในเอกสารหมาย จ.3 และ ล.25 ซึ่งหนังสือตามเอกสารหมาย จ.3 และ ล.25 ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารที่เป็นรายงานผลการตรวจสอบที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องรายงานการตรวจสอบต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 43 อีกทั้งก่อนที่จำเลยที่ 1 จะส่งหนังสือรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้น ตามเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.24 และ ล.23 หรือ ล.25 ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้จัดทำร่างหนังสือรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นดังกล่าวเสนอผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อมีคำสั่งกรณีอนุมัติให้แจ้งข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองวุฒิสภาและจำเลยที่ 2 ซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีคำสั่งเห็นชอบและให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ลงนามในหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงเบื้องต้น อันเป็นการปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 49 ซึ่งออกตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารลับใดโดยมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเช่นใด ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารลับนั้นได้ตามข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่กำหนด” ดังนั้นการที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นหัวหน้าหน่วยงานในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอันเป็นหน่วยงานของรัฐตามบทบัญญัติมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ที่ระบุให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบการบริหารทั่วไปซึ่งงานตรวจเงินแผ่นดิน จึงเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารลับได้ นอกจากนี้จากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กระทำการไม่สุจริต หรือมีน้ำหนักให้รับฟังเพียงพอว่าการที่จำเลยที่ 1 ส่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 20 (1) และไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 164 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน