คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19938/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปรากฏตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสองว่า ผู้ร้องสอดทั้งสองต่างมีหน้าที่ร่วมกันและช่วยกันในการคุ้มครองดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ป่าช้าหัวนาหว้า ทรัพย์สินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิให้ผู้ใดกีดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว การดำเนินการตามหน้าที่ดังกล่าวของผู้ร้องสอดคนใดคนหนึ่งย่อมผูกพันผู้ร้องสอดอีกคนหนึ่งตามที่มีหน้าที่ร่วมกัน ผลแห่งคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 หมายเลขแดงที่ 1288/2549 ของศาลชั้นต้น ที่แม้จะปรากฏว่าผู้ร้องสอดที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นโจทก์ฟ้องคดีก็ตาม แต่ย่อมมีผลผูกพันถึงผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วยเช่นกัน
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ ก่อนศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำพิพากษา ผู้ร้องสอดทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องอีกต่อไป ศาลจังหวัดอุดรธานียกคำร้องขอของผู้ร้องสอดทั้งสอง ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์ ขณะที่คดีที่ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลจังหวัดอุดรธานีรับคำร้องขอของผู้ร้องสอดทั้งสองไว้พิจารณาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 6329 ซึ่งเห็นได้ว่าคดีนี้ที่ผู้ร้องสอดทั้งสองร้องสอดเข้ามา และคดีที่ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยดังกล่าวนั้น มีประเด็นพิพาทเป็นอย่างเดียวกันว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จึงเป็นคดีเรื่องเดียวกัน การที่ผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ตามมาตรา 57 (1) ถือได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยแล้ว แม้ศาลจังหวัดอุดรธานีจะสั่งยกคำร้องขอ แต่ผู้ร้องสอดที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์และคดียังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา การที่ผู้ร้องสอดที่ 2 นำคดีเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ของศาลชั้นต้นอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคดีดังกล่าวของผู้ร้องสอดที่ 2 ไว้พิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบ และส่งผลพลอยทำให้กระบวนพิจารณาที่ดำเนินต่อมาในภายหลังจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1288/2549 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามให้ยกฟ้องของผู้ร้องสอดที่ 2 และคดีถึงที่สุดไปแล้วนั้น พลอยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เสมือนหนึ่งไม่เคยมีการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวมาก่อนเลย ดังนั้น การดำเนินคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวของผู้ร้องสอดที่ 2 อันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์จนแล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ
ผู้ร้องสอดทั้งสองยื่นคำร้องสอดขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ที่ป่าช้าหัวนาหว้าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าว
ศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องสอดทั้งสอง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานี ให้ศาลจังหวัดอุดรธานีดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่นัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องสอดทั้งสองแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลจังหวัดอุดรธานีรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ระหว่างไต่สวนคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสอง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสี่ ศาลจังหวัดอุดรธานีอนุญาตให้ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยทั้งสี่ออกจากสารบบความ คดีคงมีข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสอง และศาลจังหวัดอุดรธานีเห็นว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ 200,000 บาท จึงโอนคดีให้ศาลแขวงอุดรธานีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนและอนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งสองเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าผู้ร้องสอดที่ 2 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาคดีถึงที่สุดยืนตามศาลชั้นต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 หมายเลขแดงที่ 1288/2549 ของศาลชั้นต้น
ผู้ร้องสอดทั้งสองไม่คัดค้าน
ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องสอดที่ 2 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 หมายเลขแดงที่ 1288/2549 ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 6329 ตำบลข้าวสาร อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่มีการออกทับที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวก็ไม่รุกล้ำที่สาธารณประโยชน์ และพิพากษายกฟ้อง ผู้ร้องสอดที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน คดีถึงที่สุดโดยไม่มีการฎีกา เบื้องแรกเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องสอดที่ 1 ก่อน โดยผู้ร้องสอดที่ 1 อุทธรณ์ว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ไม่ใช่คู่ความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 หมายเลขแดงที่ 1288/2549 ของศาลชั้นต้น ทั้งการดำเนินคดีของผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นการกระทำโดยพลการโดยผู้ร้องสอดที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือเกี่ยวข้องด้วย การดำเนินคดีของผู้ร้องสอดที่ 2 และคำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ร้องสอดที่ 1 นั้น ปรากฏตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสองว่า ผู้ร้องสอดทั้งสองต่างร่วมกันและช่วยกันดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ป่าช้าหัวนาหว้า ตำบลข้าวสาร อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มิให้ผู้ใดกีดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว ดังนี้ เมื่อผู้ร้องสอดทั้งสองต่างมีหน้าที่ร่วมกันในการคุ้มครองดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน การดำเนินการตามหน้าที่ดังกล่าวของผู้ร้องสอดคนใดคนหนึ่งย่อมผูกพัน ผู้ร้องสอดอีกคนหนึ่งตามที่มีหน้าที่ร่วมกันดังกล่าว ผลแห่งคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 หมายเลขแดงที่ 1288/2549 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว ซึ่งแม้จะปรากฏว่าผู้ร้องสอดที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นโจทก์ฟ้องคดีก็ตาม แต่ย่อมมีผลผูกพันถึงผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วยเช่นกัน อุทธรณ์ของผู้ร้องสอดที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้องสอดที่ 2 เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า คำฟ้องของผู้ร้องสอดที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ของศาลชั้นต้นเป็นฟ้องซ้อนกับคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 ตำบลข้าวสาร อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำเลยทั้งสี่ร่วมกันก่อสร้างอาคารศาลาพักศพรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา ขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปจากที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ ก่อนศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำพิพากษาชี้ขาดคดีโดยจำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดที่ 1 และผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นที่ป่าช้าหัวนาหว้า ตำบลข้าวสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องอีกต่อไป ศาลจังหวัดอุดรธานียกคำร้องของผู้ร้องสอดทั้งสอง ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์ ขณะที่คดีที่ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลจังหวัดอุดรธานีรับคำร้องของผู้ร้องสอดทั้งสองไว้พิจารณาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ผู้ร้องสอดที่ 2 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 6329 ตำบลข้าวสาร อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่ออกทับที่ดินสาธารณประโยชน์อีก ซึ่งจะเห็นได้ว่าคดีนี้ที่ผู้ร้องสอดทั้งสองร้องสอดเข้ามา และคดีที่ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ดังกล่าวนั้น มีประเด็นพิพาทเป็นอย่างเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จึงเป็นคดีเรื่องเดียวกัน และการที่ผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ ตามมาตรา 57 (1) ถือได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 2 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยแล้ว แม้ศาลจังหวัดอุดรธานีจะสั่งยกคำร้อง แต่ผู้ร้องสอดที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีของผู้ร้องสอดที่ 2 จึงยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา การที่ผู้ร้องสอดที่ 2 นำคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ของศาลชั้นต้นอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคดีดังกล่าวของผู้ร้องสอดที่ 2 ไว้พิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบ และย่อมส่งผลพลอยทำให้กระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการต่อมาในภายหลังจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1288/2549 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามให้ยกฟ้องของผู้ร้องสอดที่ 2 และคดีถึงที่สุดไปแล้วนั้น พลอยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เสมือนหนึ่งไม่เคยมีการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวมาก่อนเลย ดังนั้น การดำเนินคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวของผู้ร้องสอดที่ 2 อันจักต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 148 แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีเบื้องต้นว่าการดำเนินคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 2263/2548 หมายเลขแดงที่ 1288/2549 ของศาลชั้นต้นและพิพากษายกฟ้องของโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องสอดทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสองต่อไป และมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่

Share