คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1992/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทั้งเก้าเป็นญาติพี่น้องกัน มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของร่วมกันโดยได้รับมรดกมา แล้วต่างก็ครอบครองทำกินกันมาเกิน 10 ปี เมื่อมีการขายที่ดินบางส่วน ให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อประโยชน์ของกรมชลประทาน โจทก์จำเลยทุกคนก็ได้รับเงินค่าขายที่ดิน เห็นได้ว่า โจทก์จำเลยต่างครอบครองที่พิพาทร่วมกัน ไม่ใช่เป็นการครอบครองโดยปรปักษ์ แม้ครอบครองมาเกิน 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามส่วนที่ครอบครอง ต้องแบ่งที่ดินกันตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดกมา
จำเลยทั้งเก้าไม่ได้โต้แย้ง สิทธิของโจทก์ในฐานะเป็นผู้รับมรดกที่ดินพิพาทเมื่อต่างครอบครองที่พิพาทร่วมกันเช่นนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ ฟ้องว่า โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยทั้งเก้า โดยโจทก์ ได้รับมรดกจากมารดา เป็นจำนวนเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๙๓.๕ วา ขอให้จำเลยทั้ง ๙ ไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินให้โจทก์ ๒๖ ไร่ ๙๓.๕ วา
จำเลยทั้งเก้า ให้การและฟ้องแย้งว่า เจ้ามรดกซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเดิม ได้ถึงแก่กรรมมาหลายสิบปีแล้ว โจทก์มาขอรับมรดกที่พิพาท จึงขาดอายุความ ที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยต่างครอบครองเป็นสัดส่วนโดยสงบเปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของมา ๔๐-๕๐ ปี แล้ว โดยโจทก์ครอบครองเพียง ๒๙ ไร่ เศษ และต่อมาที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครองได้ถูกแบ่งเป็นทางหลวงกับเพื่อประโยชน์ของกรมชลประทานไป ๑๐ ไร่เศษ ส่วนของโจทก์จึงเหลือเพียง ๑๙ ไร่เศษ ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาทให้จำเลยตามส่วนที่จำเลยแต่ละคนได้ครอบครอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์จำเลยต่างเข้าถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทร่วมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ จำเลยทั้งเก้าจึงมิได้ ครอบครองปรปักษ์เป็นส่วนสัดและที่ดินที่ถูกตัดให้เป็นทางหลวง ๑๐ ไร่นั้น โจทก์จำเลยทั้งเก้าต่างตกลงขายให้แก่กระทรวงการคลังไป จำเลยทั้งเก้า จะเอาส่วนที่ร่วมกันขายมาคิดหักในส่วนของโจทก์ไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินให้จำเลยทั้งเก้า ตามฟ้องแย้ง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ได้ที่ดินเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๙๓.๕ วา ตามฟ้อง
จำเลยทั้งเก้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งเก้าฎีกาว่าจำเลยทั้งเก้าครอบครองที่พิพาทเป็นส่วนสัดของแต่ละคนโดยมีคันนาเป็นแนวเขตแน่นอน ครอบครองมาเกิน ๑๐ ปีแล้ว โดยเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของย่อมได้กรรมสิทธิ์ในส่วนที่ครอบครองโดยปกปักษ์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์จำเลยต่างเป็นญาติพี่น้องกัน มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของร่วมกัน ต่างก็ครอบครองทำกินกันมา มีการจดทะเบียนแก้สารบาญโฉนดพิพาทแต่ละครั้งจนกระทั่งครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๑๖ ก็คงมีชื่อโจทก์และจำเลยทั้งเก้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันอยู่เกิน ๑๐ ปี
เมื่อต่างครอบครองที่พิพาทร่วมกันเช่นนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ต้องแบ่งที่พิพาทกันตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดก
พิพากษายืน

Share