คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1991/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนลง วัน เดือน ปี ไม่ตรงกับวันที่ทำการสอบสวนตามความเป็นจริง มีการเติมข้อความว่าพยานที่ถูกสอบปากคำเป็นพยานคนที่เท่าไร ไม่มีคำว่าสอบปากคำพยานต่อหน้านายตำรวจชื่ออะไร และมีการเติมข้อความว่าสอบปากคำต่อหน้านายตำรวจชื่ออะไร ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดในการสอบสวน หากไม่มีก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป ถือได้ว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังจำเลยต่อ โดยอ้างว่ายังเหลือพยานที่จะสอบอีกหลายปาก แต่ความจริงพนักงานสอบสวนสอบปากคำไปหมดแล้ว เป็นเรื่องรายละเอียด การยื่นคำร้องที่ไม่ตรงต่อความจริงเช่นนี้ ไม่ทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 7(1), 8, 15, 66, 102 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ลงวันที่ 17 กันยายน2522 ข้อ 1(1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 7(1), 8, 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 102 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ลงวันที่ 17กันยายน 2522 ข้อ 1(1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของพันตำรวจโทสำเรียง สังขจันทร์ นายดาบตำรวจเกษม นรารักษ์ นายดาบตำรวจทองจิตต์ ขาวสบาย และสิบตำรวจโทกฤษดา โต้วฮวดใช้ เป็นบันทึกที่เจ้าพนักงานดังกล่าวจัดทำขึ้นเองแล้วนำไปให้ร้อยตำรวจตรีปรัชญา พยุงธรรม พิมพ์ข้อความในช่องเดือนพ.ศ. พยานที่ต่อหน้า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่าร้อยตำรวจตรีปรัชญา พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่าหลักการสอบสวนนั้นจะต้องเรียกพยานมาถาม ให้พยานตอบแล้วบันทึกด้วยการเขียนหรือพิมพ์ อ่านให้ฟังแล้วจึงให้ลงลายมือชื่อไว้ พยานได้สอบปากคำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วบันทึกไว้ด้วยการพิมพ์ดีด บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมดังกล่าวมีรายละเอียดตามเอกสารหมาย ล.5 รวม 5 ฉบับเห็นว่า พนักงานสอบสวนได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีลงโทษต่อไป ถือได้ว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้จะได้ความว่าบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนจะลง วัน เดือน ปี ไม่ตรงกับวันที่ทำการสอบสวนตามความเป็นจริง หรือมีการเติมข้อความว่าพยานที่ถูกสอบปากคำเป็นพยานคนที่เท่าไร หรือไม่มีคำสอบปากคำพยานต่อหน้านายตำรวจชื่ออะไรหรือเติมข้อความว่าสอบปากคำต่อหน้านายตำรวจชื่ออะไรก็ตาม เพราะข้อความดังกล่าวนั้นเป็นเพียงรายละเอียดในการสอบสวนเท่านั้น หากไม่มีข้อความดังกล่าวก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไปเนื่องจากไม่มีกฎหมายบัญญัติให้พนักงานสอบสวนบันทึกรายละเอียดดังกล่าวลงไปในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยาน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่าพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังจำเลยต่อ โดยอ้างว่ายังเหลือพยานที่จะสอบอีกหลายปาก แต่ความจริงพนักงานสอบสวนสอบปากคำไปหมดแล้วนั้นก็เป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้น การยื่นคำร้องที่ไม่ตรงต่อความจริงเช่นนี้ หาทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share