คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนกรณีเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายเก่า แม้ต่อมากฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกโดยกฎหมายใหม่ แต่เมื่อการเวนคืนรายนี้มีผลสำเร็จเด็ดขาดไปก่อนแก้ไขกฎหมายกฎหมายใหม่ย่อมไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่บริบูรณ์แล้วกรณีต้องบังคับตามกฎหมายเก่านั้น เก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ของโจทก์ผลิตขึ้นเพื่อใช้สำหรับโรงภาพยนตร์โดยเฉพาะ และได้ติดตั้งยึดไว้กับพื้นของโรงภาพยนตร์ซึ่งตามปกติโรงภาพยนตร์ต้องมีเก้าอี้เพื่อให้ผู้ชมได้นั่งชมภาพยนตร์ การรื้อถอนเก้าอี้ออกไปจะทำให้โรงภาพยนตร์เสียสภาพในการเป็นโรงภาพยนตร์ ดังนี้ ถือได้ว่าเก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้าง อสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเมื่อมี พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคืนและรัฐมนตรีได้ประกาศให้ทางที่จะสร้างนั้นเป็นทางที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องใช้เงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายให้โจทก์และโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ใช้บังคับ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าทดแทนที่ดินสิ่งปลูกสร้างโรงภาพยนตร์และอุปกรณ์ให้โจทก์อีกเป็นเงินรวม 5,184,032.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี เป็นเงิน1,555,209.67 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน5,184,032.23 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เงินค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้แก่โจทก์นั้นเป็นธรรมแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นเงิน 559,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไป โดยคิดให้ถึงวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทน659,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่2 พฤษภาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 4 ปี ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12532 ตำบลบางมด อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5พร้อมโรงภาพยนตร์ชื่อบางมดรามาที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2525 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2525 เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคนอง-ท่าเรือ โดยกำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2525ที่ดินและโรงภาพยนตร์ของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525กำหนดให้ทางพิเศษสายดาวคนอง-ท่าเรือ เป็นทางพิเศษที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน เพื่อให้จำเลยมีอำนาจเข้าครอบครองใช้ รื้อถอนอสังหาริมทรัพย์ และสร้างทางพิเศษ เจ้าหน้าที่ของจำเลยทำการสำรวจและกำหนดเงินค่าทดแทนทรัพย์สินของโจทก์ดังนี้ ที่ดินถูกเขตทางพิเศษ 295 ตารางวา กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับที่ดินที่อยู่ห่างจากถนนสายธนบุรี-ปากท่อ ในระยะ 20 เมตร ราคาตารางวาละ2,500 บาท รวม 10 ตารางวา เป็นเงิน 25,000 บาท ที่ดินที่อยู่ถัดออกไปจำนวน 285 ตารางวา กำหนดให้ตารางวาละ 1,200 บาทเป็นเงิน 342,000 บาท เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสิ้นเป็นเงิน 367,000บาท เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างแยกเป็น 7 รายการ คือ ลำดับที่ 1โครงสร้างโรงภาพยนตร์เป็นเงิน 6,174,565.63 บาท ลำดับที่ 2ค่าตกแต่งโรงภาพยนตร์เป็นเงิน 1,200,099.74 บาท ลำดับที่ 3ตึกชั้นเดียวพร้อมถังน้ำมันเป็นเงิน 144,233.79 บาท ลำดับที่ 4ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ดินถม และรั้วสังกะสี เป็นเงิน241,469.39 บาท ลำดับที่ 5 ป้ายโฆษณาโรงภาพยนตร์ เป็นเงิน88,749.26 บาท ลำดับที่ 6 ระบบไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศเป็นเงิน338,208.69 บาท ลำดับที่ 7 ค่าทดแทนถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และดินถมปรับพื้นที่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 32673 เป็นเงิน 25,774.82 บาทรวมเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 8,213,011.32 บาทสำหรับเก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์จำเลยไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้ โจทก์โต้แย้งว่าเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่จำเลยกำหนดต่ำไป จึงตกลงกันไม่ได้ จำเลยได้นำเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่จำเลยกำหนดดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีและโจทก์ได้รับเงินนั้นไปแล้ว
พิเคราะห์แล้ว การเรียกเงินค่าทดแทนของโจทก์ดังกล่าวเป็นการเรียกเงินค่าทดแทนกรณีเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27พฤศจิกายน 2515 ข้อ 22 ถึงข้อ 25 และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 63 ถึงข้อ 80 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2522มาตรา 3 แม้ขณะนี้บทกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกแล้วโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2530 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มาตรา 7 แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่การเวนคืนรายนี้มีผลสำเร็จเด็ดขาดไปแล้ว กฎหมายใหม่ย่อมไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่บริบูรณ์แล้ว กรณีจำต้องบังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27พฤศจิกายน 2515 ข้อ 22 ถึงข้อ 25 และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 63 ถึงข้อ 80ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515พ.ศ. 2522 มาตรา 3 มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย ซึ่งจะได้แยกวินิจฉัยโดยลำดับคือ…
ปัญหาที่สาม ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับเก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ เพราะไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ของโจทก์ดังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.17 และ ล.2 หน้า 31, 32 มีลักษณะที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้สำหรับโรงภาพยนตร์โดยเฉพาะและได้ติดตั้งยึดไว้กับพื้นของโรงภาพยนตร์ ซึ่งตามปกติโรงภาพยนตร์ต้องมีเก้าอี้เพื่อให้ผู้ชมได้นั่งชมภาพยนตร์ การรื้อถอนเก้าอี้ออกไปจะทำให้โรงภาพยนตร์เสียสภาพจากการเป็นโรงภาพยนตร์ ถือได้ว่าเก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้าง จำเลยจึงต้องใช้เงินค่าทดแทนให้โจทก์ และเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนในส่วนนี้ให้โจทก์159,000 บาทขึ้น เหมาะสมแล้ว…
ปัญหาที่สี่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ใช้บังคับ เพราะขณะนั้นยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ใช้บังคับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ25 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคือเพื่อสร้างหรือขยายทางพิเศษ และรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดทางสายนั้นเป็นทางที่มีความจำเป็นต้องสร้างหรือขยายโดยเร่งด่วนแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือ กทพ. มีอำนาจครอบครอง ใช้ รื้อถอนอสังหาริมทรัพย์ สร้างหรือขยายทางพิเศษนั้นได้โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ได้เข้าครอบครองหรือรื้อถอนอสังหาริมทรัพย์แก่เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่นในอสังหาริมทรัพย์นั้น…” ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ และรัฐมนตรีได้ประกาศให้ทางสายนั้นเป็นทางที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนแล้วแม้จะยังไม่มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยก็มีหน้าที่ต้องใช้เงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายให้โจทก์ และเมื่อนำข้อ 67 วรรคสอง แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 ที่บัญญัติว่า “ฯลฯ ในกรณีศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์…ชำระเงินเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้น ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ” มาใช้บังคับโดยอนุโลมโดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน2515 ข้อ 23 วรรคสอง แล้วมีความหมายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับนั้นชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share