แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินช่วยเหลือบุตร เป็นเงินที่นายจ้างให้เฉพาะลูกจ้างที่มีบุตรมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างหาใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ จึงไม่เป็นค่าจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงประโยชน์โดยไม่ชอบ โดยได้รับเหมาก่อสร้างขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าภายในโรงพยาบาลบ้านนา และนำยานพาหนะ อุปกรณ์ไฟฟ้าและแรงงานของโจทก์ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นการทุจริตผิดวินัยร้ายแรง โจทก์ไล่จำเลยออกจากงานแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าอุปกรณ์ค่าแรงงาน เป็นเงิน 8,279 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ข้อกล่าวหาของโจทก์ไม่เป็นความจริง คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลแรงงานกลาง จำเลยถูกไล่ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรมโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องแย้งและจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนฟ้องแย้ง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยได้ช่วยเหลือนายทวีปผู้รับเหมาขยายเขตระบบไฟฟ้าในโรงพยาบาลบ้านนา ทำให้โจทก์เสียหาย 5,000 บาท เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับแต่ไม่ร้ายแรง โจทก์ไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือ จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 5,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย และให้โจทก์จ่ายเงินค่าชดเชยให้จำเลยตามฟ้องแย้งของจำเลย สำหรับเงินค่าช่วยเหลือบุตรเดือนละ50 บาท มิใช่ค่าจ้างจะนำมารวมกับเงินเดือนของจำเลยเพื่อรวมคำนวณเป็นค่าชดเชยด้วยไม่ได้ คงให้จ่ายเป็นเงิน 45,660 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์ จำเลยต่างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะปัญหาที่ว่าจำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งหรือไม่ และสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะปัญหาที่ว่า เงินช่วยเหลือบุตรมีลักษณะเป็นสินจ้างตามกฎหมายหรือไม่
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เสียก่อน โจทก์อุทธรณ์ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ไล่จำเลยออกจากงานในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ผิดระเบียบวินัยข้อบังคับของโจทก์เป็นการถูกไล่ออกโดยการลงโทษตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มาตรา 121 ถึงมาตรา 124 ซึ่งจำเลยจะต้องร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน 60 วัน นับแต่รู้ถึงการไล่ออก แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงจะมาฟ้องแย้งเรียกค่าชดเชยค่าบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหายต่าง ๆ ในคดีนี้ไม่ได้ เพราะผิดขั้นตอนของกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องแย้งของจำเลยนั้นจำเลยฟ้องแย้งว่าการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 มิได้ฟ้องว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ถึงมาตรา 124 ซึ่งการฟ้องเกี่ยวกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 นั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการใด ๆเสียก่อนแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมีอำนาจฟ้องได้จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่อุทธรณ์ว่าเงินช่วยเหลือบุตรเดือนละ 50 บาท เป็นส่วนหนึ่งของรายได้เป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงต้องจ่ายให้กับจำเลยพร้อมกับเงินต่าง ๆ ด้วยนั้น เห็นว่า เงินช่วยเหลือบุตรเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้เฉพาะลูกจ้างที่มีบุตรอันมีลักษณะที่เป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างอย่างหนึ่งเท่านั้น หาใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้อันมีลักษณะเป็นค่าจ้างไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าเงินช่วยเหลือบุตรเดือนละ 50 บาท มิใช่ค่าจ้าง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน