คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ประมูลก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำให้แก่จำเลยซึ่งมีบริษัทหนึ่งเป็นวิศวกรที่ปรึกษา หลังจากก่อสร้างเสร็จและส่งมอบงานแล้ว โจทก์ได้เรียกร้องเงินนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญา โดยผ่านวิศวกรที่ปรึกษาไปยังจำเลย จำเลยได้เสนอค่าเสียหายแก่โจทก์ในจำนวนที่ต่ำกว่าเงินที่โจทก์เรียกร้อง โจทก์จึงได้เสนอเรื่องให้วิศวกรที่ปรึกษาของจำเลยชี้ขาดตามข้อสัญญา ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีฯ วิศวกรวินิจฉัย ให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์เป็นจำนวนหนึ่ง ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้อง เรียกร้องค่าเสียหายตามคำวินิจฉัยของวิศวกรที่ปรึกษา ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,413,563 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วน พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาโดยคู่ความไม่โต้เถียงกันว่า เมื่อปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการก่อสร้างปรับปรุงระบบระบายน้ำจังหวัดพระนครขึ้น โดยให้จำเลยเป็นเจ้าของเรื่องและเป็นคู่สัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างคณะกรรมการดังกล่าวได้คัดเลือกบริษัทแคมป์ เดรสเซอร์ แอนค์ แมคกี้ จำกัดเป็นวิศวกร ที่ปรึกษา มีหน้าที่สำรวจและออกแบบระบบทางระบายน้ำ น้ำโสโครก และป้องกันน้ำท่วม นอกจานี้จำเลยได้จ้างบริษัทดังกล่าวเป็นวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างด้วยการก่อสร้างในคดีนี้เรียกว่า การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำตามโครงการพระราม 4 คณะกรรมการในนามของจำเลย ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อก่อสร้าง ในที่สุดโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหุ้นส่วนกันในนาม “แกมมอน – ดิน – เนียร์มูดี้ จอยท์ – เวนเจอร์” เป็นผู้ประมูลได้ และได้ทำสัญญากับจำเลยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2513 ดังเอกสารหมาย จ.22 (เอกสารหมาย จ.3 และ ล.1 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้) ในการควบคุมงาน คณะกรรมการซึ่งทำการแทนจำเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพระราม 4 ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบผลงานและทำการต่าง ๆ แทนคณะกรรมการดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.10 ในที่สุดโจทก์ผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และได้ส่งมอบงานให้แก่จำเลย โดยวิศวกรที่ปรึกษาได้ทำหนังสือระบุว่างานก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2515 ดังเอกสารหมาย จ.11 หลังจากส่งมอบงานแล้ว โจทก์ได้เรียกร้องเงินนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญารวม 15 รายการ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.26 ซึ่งย่อได้ตามเอกสรรหมาย จ.27 (มีคำแปลตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ศาลชั้นต้นหมาย จ.4) รวมเป็นเงิน8 ล้านบาทเศษโดยค่าเสียหายที่เปลี่ยนแปลงไปจากสัญญาเดิม คือ มีการก่อสร้างเปลี่ยนทิศทางน้ำเข้าที่ต้นอุโมงค์ และรายการอื่น ๆ หลายประการ ข้อเรียกร้องนี้ได้ยื่นผ่านวิศวกรที่ปรึกษาไปยังจำเลย วิศวกรที่ปรึกษาได้พิจารณาก่อนแล้วส่งข้อเรียกร้องไปให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วได้เสนอให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 3 ล้านบาทเศษ ได้แจ้งให้โจทก์ทราบดังรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.7 และคณะกรรมการฯ ได้สรุปผลแจ้งให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.13 โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าเสียหายที่ฝ่ายจำเลยเสนอมาดังกล่าว จึงได้เสนอเรื่องราวให้วิศวกรที่ปรึกษาของจำเลยชี้ขาดตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10 วิศวกรพิจารณาแล้วได้ทำวินิจฉัยส่งไปให้โจทก์และจำเลยทราบเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2516 โดยวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์รวม 4 ล้านบาทเศษพร้อมดอกเบี้ย ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.9

ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า ตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย โจทก์นำข้อเรียกร้องเสนอต่อจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2515 อ้างว่าทำให้โจทก์เสียหายเป็นมูลละเมิด โจทก์รู้ถึงมูลละเมิดตั้งแต่ พ.ศ. 2515 คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายตามคำวินิจฉัยของวิศวกรที่ปรึกษาซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 โจทก์นำข้อเรียกร้องเสนอจำเลยเมื่อปี พ.ศ. 2515 และนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2519 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ในประเด็นที่ว่าโจทก์นำข้อพิพาทตามสัญญาไปให้วิศวกรที่ปรึกษาของจำเลยทำการวินิจฉัยถูกต้องตามเจตนารมณ์ของสัญญาว่าจ้าง ข้อ 19.1 หรือไม่นั้น ปรากฏตามสัญญาว่าจ้างข้อ 19.1 ดังเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความดังต่อไปนี้ “นอกจากในสัญญาจะได้ระบุไว้เป็นประการอื่นโดยชัดแจ้ง ข้อพิพาทหรือความขัดแย้งไม่ว่าประการใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากหรือเนื่องจากสัญญา หรือในการปฏิบัติงาน (ไม่ว่าระหว่างการดำเนินงานหรือหลังจากที่งานเสร็จเรียบร้อยแล้ว) และไม่ว่าก่อนหรือหลังการเลิกสัญญาการละทิ้งหรือการผิดสัญญา) ให้เสนอเป็นประการแรก และให้ทำการชำระสะสางโดยวิศวกร และวิศวกรจะได้แจ้งการตัดสินของเขาเป็นลายลักษณ์อักษรแก่เทศบาลและผู้รับเหมาภายใน 90 วัน(เก้าสิบวัน)” ดังนี้ เห็นว่า ตามข้อสัญญาดังกล่าว ข้อพิพาทหรือความชัดแย้งไม่ว่าประการใด ๆ ที่เกิดขึ้น ฯลฯ วิศวกรที่ปรึกษามีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด นอกจากในสัญญาจะได้ระบุไว้เป็นประการอื่นโดยชัดแจ้ง ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าสัญญาได้ระบุไว้เป็นประการอื่นใดดังที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นวินิจฉัยไว้แล้ว ฉะนั้น วิศวกรที่ปรึกษาจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งระหว่างโจทก์และจำเลยได้ หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังฎีกาจำเลยไม่ ที่จำเลยฎีกาโต้เถียงว่าตามข้อเท็จจริงแสดงว่ายังไม่มีข้อพิพาทวิศวกรที่ปรึกษาจึงยังไม่มีอำนาจวินิจฉัยนั้น ข้อเท็จจริงยุติดังกล่าวข้างต้นแล้วว่าการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำตามโครงการพระราม 4 คดีนี้เมื่อวิศวกรที่ปรึกษาทำหนังสือเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งเป็น “หนังสือรับรองการเสร็จงาน” ให้ โจทก์ก็ได้ส่งมอบงานและเรียกร้องเงินนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญารวม 15 รายงาน ตามเอกสารหมาย จ.4 (ตรงตามเอกสารหมาย 6 ท้ายฟ้อง) เป็นเงิน 8,033,010บาท ทั้งนี้เป็นค่าเสียหายที่เปลี่ยนแปลงไปจากสัญญาเดิม การก่อสร้างเปลี่ยนทิศทางน้ำเข้าที่ต้นอุโมงค์และรายการอื่น ๆ โดยข้อเรียกร้องนี้ยังผ่านวิศวกร ที่ปรึกษาไปยังจำเลย ดังนี้ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติไปว่าวิศวกรที่ปรึกษาได้พิจารณาข้อเรียกร้องก่อน แล้วส่งให้คณะกรรมการโครงการพระราม 4 ของจำเลยพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวพิจารณาแล้วเสนอให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียง 3,491,941 บาท ดังรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.9 กับต่อมาปรากฏตามหนังสือของคณะกรรมการเตรียมการก่อสร้างปรับปรุงระบบระบายน้ำจังหวัดพระนคร เอกสารหมาย จ.13 ลงวันที่ 30 มกราคม 2516เรื่องสรุปผลการวินิจฉัยการเรียกร้องค่าเสียหาย (CLAIM) ของบริษัทแกมมอน ดินเนียน์ มูดี้ (GKM) แจ้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึงจำนวนเงินที่เห็นควรอนุมัติทั้งสิ้น 3,337,199 บาท เพื่อประกอบการพิจารณาของกรุงเทพมหานครจำเลย โดยส่งข้อคิดเห็นของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวในการพิจารณาการเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งเท้าความว่า เรื่องนี้คณะกรรมการฯ ได้มอบให้คณะกรรมการฯพิจารณาแล้วด้วย ทั้งยังปรากฏตามคำเบิกความของนายจำรัส ฉายะพงศ์ พยานโจทก์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้หนึ่งในคณะกรรมการฯ ดังกล่าวว่า ต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เรียกพยานมาร่วมประชุมตามบันทึกการประชุมเอกสารหมาย จ.14 เรื่องการพิจารณาการเรียกร้องค่าเสียหายของบริษัทแกมมอน – คินเนียร์ มูดี้ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2516 มีผู้เข้าร่วมประชุมคือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจำรัส ฉายะพงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการทำการแทนประธานคณะกรรมการเตรียมการก่อสร้างปรับปรุงระบบระบายน้ำจังหวัดพระนคร เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง กับผู้แทนบริษัทแกมมอน – คินเนียร์ มูดี้ และวิศวกรที่ปรึกษาบริษัทแคมป์ เครสเซอร์ แอนด์ แมคกี้ ร่วมประชุมด้วย กลับปรากฏข้อความเพิ่มเติมตามบันทึกการประชุมว่า กองกฎหมายและคดีได้พิจารณาเฉพาะรายการที่เกี่ยวกับกฎหมายคือ รายการที่ 1, 2, 3, 10 และ 11 เห็นควรจ่ายให้เฉพาะรายการที่ 1 ส่วนรายการที่ 2, 3, 10 และ 11 ไม่ควรจ่าย รวมเป็นเงินที่จะต้องจ่ายทั้งสิ้น 2,712,621 บาท และปรากฏตามคำเบิกความของนายจำรัส ฉายะพงศ์ ว่า ทราบว่าจำเลยส่งเรื่องไปหารือกรมอัยการเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าจ้าง แต่พยานไม่ทราบผล ซึ่งก็เป็นความจริง ดังปรากฏตามบันทึกข้อความเรื่องการพิจารณาการเรียกร้องค่าเสียหายของบริษัทแกมมอน – คินเนียร์ มูดี้ ที่จำเลยอ้างส่งศาล หมาย ล.2 ดังนี้รับฟังได้ว่าได้มีข้อพิพาทหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว การที่โจทก์นำข้อพิพาทไปให้วิศวกรที่ปรึกษาทำการวินิจฉัยตามหนังสือเอกสารหมาย จ.15 จึงถูกต้องชอบด้วยข้อตกลงตามสัญญาข้อ 14.1 แล้ว และโดยสัญญาข้อ 14.1 มีข้อความต่อไปว่า “ในกรณีที่วิศวกรได้ให้คำตัดสินเป็นลายลักษณ์อักษรแก่เทศบาลและผู้รับเหมา และเทศบาลและผู้รับเหมามิได้ติดต่อวิศวกรเพื่อเรียกร้องให้มีอนุญาโตตุลาการภายใน 90 วัน (เก้าสิบวัน)จากวันที่ได้รับแจ้ง ให้ถือว่าการตัดสินดังกล่าวเป็นที่สุดและผูกพันทั้งเทศบาลและผู้รับเหมา ฯลฯ” ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาโดยจำเลยมิได้เถียงว่าเทศบาล (จำเลย) และผู้รับเหมา (โจทก์) มิได้ดำเนินการเรียกร้องให้มีอนุญาโตตุลาการตามข้อกำหนดในสัญญา ฉะนั้นตามสัญญาข้อ 14.1 ดังกล่าว คำวินิจฉัยของวิศวกรที่ปรึกษาจึงเป็นที่สุดและผูกพันจำเลยและโจทก์แล้ว”

พิพากษายืน

Share