แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา จ.ศ.1239 นั้น ได้มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รวบรวมข้อบัญญัติต่างๆ ในทางแพ่งทั้งหมดขึ้นใช้บังคับแล้ว และตามมาตรา 656 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวก็ได้บัญญัติคุ้มครองมิให้เอาของชำระหนี้แทนเงินด้วยการคิดราคาของต่ำกว่าราคาท้องตลาดนั้นอยู่แล้ว ประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา จ.ศ.1239 จึงเป็นอันถูกยกเลิกไม่ใช้บังคับต่อไป
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตกลงจะขายข้าวเปลือกแก่โจทก์และได้รับเงินไปแล้วโดยได้ทำสัญญารับฝากข้าวเปลือกไว้ ถึงหากจะฟังว่าสัญญารับฝากข้าวเปลือกเป็นนิติกรรมอำพราง โจทก์ก็ขอให้บังคับตามสัญญาจะซื้อขายได้
ตกลงซื้อข้าวเปลือกราคาหนึ่ง และมีข้อสัญญาว่า หากผู้ขายไม่ส่งมอบตามกำหนดจะต้องใช้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นเป็นอีกราคาหนึ่ง ย่อมมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับฐานผิดสัญญา หากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้
(ปัญหาตามวรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 28/2511)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2509 จำเลยตกลงจะขายข้าวเปลือกให้โจทก์ 300 ถัง ราคาถังละ 8 บาท เป็นเงิน 2,400 บาทและได้รับเงินไปแล้ว สัญญาจะส่งมอบข้าวเปลือกไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2510 หากผิดสัญญา ยอมใช้ราคาให้โจทก์ถังละ 15 บาท จำเลยได้ทำสัญญารับฝากข้าวเปลือกไว้ จำเลยผิดสัญญา จึงขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาข้าวเปลือกเป็นเงิน 4,500 บาท
จำเลยต่อสู้ว่า ไม่เคยตกลงขายข้าวเปลือกให้โจทก์ แก่จำเลยกู้เงินโจทก์ 500 บาท สัญญาจะใช้ด้วยข้าวเปลือก 100 ถัง ซึ่งเรียกว่าตกข้าว โจทก์ให้จำเลยเซ็นชื่อไว้ในกระดาษแผ่นหนึ่ง จะใช่สัญญารับฝากข้าวหรือไม่ไม่ทราบ ในวันทำสัญญาไม่มีการฝากข้าวสัญญารับฝากข้าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วันนัดพร้อม จำเลยรับว่า ได้ทำสัญญาให้โจทก์ไว้จริง ขอผัดใช้เงินไป 1 ปีโจทก์แถลงว่า ขอคิดเอาเพียง 3,000 บาท และยอมให้ผัด2 เดือน จำเลยว่าหาเงินไม่ทันนอกจากนี้จำเลยว่าไม่มีอะไรจะแถลงอีก
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ไม่มีประเด็นอะไรที่จะพิจารณาอีก แล้วพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการหลีกเลี่ยงข้อห้ามเรื่องประกาศห้ามตกทอดข้าวแก่ชาวนาขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จะเรียกร้องให้ชำระหนี้และบังคับคดีมิได้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ราคาข้าวเปลือกแก่โจทก์เป็นเงิน 4,500 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องและคำรับของจำเลยในภายหลังฟังได้ว่าจำเลยได้ตกลงจะขายข้าวเปลือกให้โจทก์ 300 ถัง ๆ ละ 8 บาทเป็นเงิน 2,400 บาท จำเลยได้รับเงินแล้ว กำหนดส่งมอบข้าวเปลือกให้ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2510 โดยทำหนังสือสัญญารับฝากข้าวเปลือกไว้ หากไม่ส่งมอบตามกำหนด จำเลยยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นเงินถังละ 15 บาท
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของโจทก์ต้องด้วยประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา จ.ศ.1239 ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้นั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ณ บัดนี้ได้มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่รวบรวมข้อบัญญัติต่าง ๆ ในทางแพ่งทั้งหมดขึ้นใช้บังคับแล้วและข้อบัญญัติที่ว่าไว้ในมาตรา 656 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวก็ได้บัญญัติคุ้มครองมิให้เอาของชำระหนี้แทนเงินด้วยการคิดราคาของต่ำกว่าราคาท้องตลาดนั้นอยู่แล้ว ในขณะที่โจทก์จำเลยทำสัญญารายที่ฟ้องนี้ ประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนาจ.ศ.1239 นั้น ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ฎีกาจำเลยเป็นอันตกไป
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาฝากทรัพย์ตามฟ้องใช้บังคับไม่ได้เพราะเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เท่าที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ขอบังคับเอาตามสัญญาจะซื้อขายอยู่ด้วยประการหนึ่งหาใช่ฟ้องขอบังคับเอาเพียงตามสัญญารับฝากข้าวเท่านั้นไม่หากจะถือว่าสัญญารับฝากข้าวไม่มีผลบังคับ ก็ไม่กระทบกระเทือนต่อการที่โจทก์จะเรียกเอาค่าเสียหายตามสัญญาจะซื้อขายที่ได้ทำกันไว้
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อสัญญาที่ว่า ถ้าจำเลยไม่ส่งข้าวเปลือก300 ถังให้โจทก์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2510 แล้ว จำเลยยอมคิดเป็นเงินสดให้แก่โจทก์ถังละ 15บาท รวมเป็นเงิน 4,500 บาทนั้นก็คือจำเลยสัญญาให้เบี้ยปรับในฐานผิดสัญญาจะซื้อขายนั่นเอง ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงมาได้ตามสมควร และเห็นสมควรลดเบี้ยปรับเหลือเพียง 600 บาท
พิพากษาแก้ให้จำเลยให้เงิน 3,000 บาทแก่โจทก์ (คือต้นเงิน2,400 บาท และเบี้ยปรับ 600 บาท)