คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรรมการบริษัทที่ไม่ใช่ผู้จัดการ ไม่มีหน้าที่จัดธุรกิจของบริษัท คงเป็นแต่ผู้แทนของบริษัทในฐานะที่บริษัทเป็นนิติบุคคล และมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในการประชุมกรรมการแก่ผู้จัดการเท่านั้น ปรากฏว่าการจัดธุรกิจของบริษัทซึ่งอยู่ในความรับผิดของผู้จัดการ ได้ทำให้บริษัทต้องเสียหาย ดังนี้ หากการกระทำนั้นมิได้อยู่ในข้อหนึ่งข้อใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 ซึ่งกรรมการของบริษัทจะต้องรับผิดชอบร่วมกันแล้ว กรรมการที่ไม่ใช่ผู้จัดการก็ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
การที่กรรมการบริษัทละเลยไม่เรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแจ้งให้ทราบว่าบริษัทขาดทุนตลอดมาทุกปี และเมื่อบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจำนวนต้นทุน กรรมการก็ไม่เคยเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการขาดทุนนั้น เป็นข้อที่น่าตำหนิ แต่ก็มิใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้บริษัทเสียหาย กรรมการบริษัทจึงไม่ต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าบริษัทประกันชีวิตบูรพาจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์รับทำการประกันชีวิต โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 2เป็นกรรมการอำนวยการ จำเลยที่ 3, 4 และ 5 เป็นทายาทของพลเรือโทหลวงอาจณรงค์ กรรมการซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยที่ 6, 7, 8 และ 9 เป็นทายาทของนายปิ่น เอี่ยมพานิช กรรมการซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยอื่นนอกจากนั้นเป็นกรรมการ บริษัทถูกฟ้องให้ล้มละลาย ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของบริษัทผู้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจสอบพบว่ากรรมการบริษัทต่างทราบถึงฐานะและกิจการของบริษัทผู้ล้มละลายดีว่าขาดทุนมาตั้งแต่บริษัทเริ่มดำเนินกิจการแล้ว แต่ก็หาได้ใช้ความระมัดระวังในการประกอบกิจการดังเช่นบุคคลที่อยู่ในฐานะอย่างผู้ประกอบกิจการบริษัทประกันชีวิตจะพึงกระทำไม่ ยิ่งกว่านั้นยังประกอบกิจการด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังเยี่ยงวิญญูชนจะพึงกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย คือ ยอมให้นายเฉลิมยืมเงินไป523,398.13 บาท นายประเสริฐ 187,341.30 บาท นายพิศฺษฐ์ 12,600 บาทนายวิกุล 2,494,607.50 บาท โดยมิได้มีหลักประกันหรือหลักฐานอันจะมีผลให้บังคับคดีได้ตามกฎหมาย ปล่อยให้มีเบี้ยประกันค้างอยู่ที่ตัวแทนของบริษัท เป็นเงินประมาณ 422,883.99 บาท โดยไม่ติดตามทวงถาม นำเงินของบริษัทไปลงทุนในบริษัทบูรพาประกันภัย จำกัด 3,000,000 บาท ทั้ง ๆ ที่รู้หรือน่าจะได้รู้อยู่แล้วว่าบริษัทดังกล่าวมีฐานะไม่มั่งคง กำลังจะล้มละลาย ซึ่งขณะนี้ศาลได้พิพากษาให้บริษัทดังกล่าวล้มละลายแล้ว ตัวเงินสดสูญหายไป 200,037.41 บาทโดยไม่มีหลักฐานการจ่ายและเหตุผล งบดุลประจำปีก็ส่งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทไม่ครบ ขาดหายไปสองปี เงินทุนประกันชีวิตที่ได้กันไว้ 44,422,095.74บาท รายการจ่ายเบ็ดเตล็ดที่ฟุ่มเฟือย 13,952,770.16 บาท กับเงินเบี้ยประกันอีก 3,227,137.84 บาท สูญหายไปหมดโดยไม่ปรากฏหลักฐานการจ่าย ผู้ถือหุ้นยังค้นชำระค่าหุ้นอีกร้อยละ 75 กรรมการบริษัทควรจะเรียกเก็บจากผู้ถือหุ้นก็ไม่เรียกเก็บ เป็นผลให้บริษัทเสียหาย ขาดเงินค่าหุ้นที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถจะเรียกเก็บได้ด้วยเหตุต่าง ๆ เป็นจำนวน 41 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น6,655,500 บาท ในคดีที่บริษัทล้มละลาย ได้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 5,459 ราย รวมเป็นเงิน 65,160,741.53 บาท คิดหักกับหนี้สินและทรัพย์สินแล้วคงเหลือที่จะต้องรับผิดชำระแก่เจ้าหนี้อีก 59,668,928.59 บาท เงินจำนวนนี้กับเงินค่าหุ้นที่ยังเรียกเก็บไม่ได้ เป็นความเสียหายที่บริษัทผู้ล้มละลายประสงค์จะได้รับชดใช้คืนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทุกคนไม่ชำระจึงขอให้บังคับจำเลยทุกคนร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือ ค่าหุ้นที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังเรียกเก็บไม่ได้ 6,655,500 บาท กับเงินที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 59,668,928.59 บาท รวมเป็นเงิน 66,324,428.59 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด เพราะตามข้อบังคับของบริษัท ให้มีกรรมการผู้จัดการเป็นผู้มีอำนาจบริหารงาน รับผิดชอบในกิจการงานของบริษัทคณะกรรมการเป็นแต่ที่ปรึกษาและมีมติในปัญหาที่จะต้องปฏิบัติเท่านั้น บริษัทมิได้ขาดทุน บริษัทมีหลักทรัพย์เกินจำนวนทุน จึงไม่จำต้องเรียกเงินทุนจากค่าหุ้นที่ค้างชำระ ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องเรียกเก็บเต็มจำนวนการที่เรียกเก็บค่าหุ้นเวลานี้ไม่ได้ เป็นความผิดของโจทก์เอง ข้อที่ว่าคณะกรรมการยอมให้บุคคลยืมเงินไปโดยมิได้มีหลักประกันหรือหลักฐานอันจะมีผลให้บังคับคดีได้ตามกฎหมาย การไม่ติดตามทวงถามเบี้ยประกันภัยที่ค้างอยู่ที่ตัวแทนบริษัทการที่เงินสูญหายไปโดยไม่มีหลักฐานการใช้จ่าย การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เหล่านี้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการ เงินลงทุนในบริษัทบูรพาประกันภัยจำกัด เวลานั้นบริษัทดังกล่าวมีฐานะดี กิจการกำลังเจริญจำเลยไม่ได้ออกความเห็นหรือสั่งการเป็นมติของที่ประชุมกรรมการ สมุดบัญชีของบริษัทไม่ได้สูญหาย เงินทุนประกันชีวิตที่กันไว้ไม่ได้สูญหาย แต่ให้กู้ยืมไปฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และคดีโจทก์ขาดอายุความ

จำเลยที่ 2 และที่ 11 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3, 4 และ 5 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พลเรือโทหลวงอาจณรงค์มิใช่ผู้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท กรณีไม่เข้าด้วยมาตรา 1168แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฯลฯ

จำเลยที่ 6 ให้การว่า กรรมการบริษัทมิได้ประมาทเลินเล่อ ฯลฯ

จำเลยที่ 7, 8 และ 9 ให้การว่า ทรัพย์สินในกองมรดกของนายปิ่นถูกนำไปชำระหนี้จนหมดแล้ว ไม่มีทายาทผู้ใดได้รับทรัพย์สินจากกองมรดกเลย จำเลยไม่ต้องรับผิด ฯลฯ

จำเลยที่ 10 ให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ฯลฯ

จำเลยที่ 12 ให้การว่า การดำเนินกิจการต่าง ๆ ของบริษัทอยู่ในอำนาจของกรรมการผู้จัดการ กรรมการอื่น ๆ เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา กรรมการอื่น ๆได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างวิญญูชนพึงกระทำ มิได้มีความประมาทเลินเล่อ ฯลฯ

จำเลยที่ 13 ให้การว่า กรรมการบริษัทที่มีอำนาจดำเนินการและสั่งการในบริษัทมีจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยจึงไม่ใช่ผู้กระทำหรือร่วมกระทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท และกรณีไม่เข้าด้วยมาตรา 1168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้รับผิด ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน51,077,595.74 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับจำเลยอื่น ๆ ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1, 11 และ 12 ร่วมรับผิดในความเสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นกับจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 10กับที่ 13 ให้ร่วมรับผิดในความเสียหายกับจำเลยอื่นเพียง 1 ใน 5 ส่วน คิดเป็นเงิน10,215,519.15 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1, 10, 11, 12 และ 13 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1114บัญญัติว่า “บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกัน จัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง” มาตรา 1164 บัญญัติว่า “กรรมการจะมอบอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดของตนให้แก่ผู้จัดการหรือให้แก่อนุกรรมการ ซึ่งตั้งขึ้นจากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกันก็ได้ ในการใช้อำนาจซึ่งได้มอบหมายเช่นนั้น ผู้จัดการทุกคนหรืออนุกรรมการทุกคนต้องทำตามคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งกรรมการทั้งหลายได้กำหนดให้ทุกอย่างทุกประการ” และมาตรา 1168 บัญญัติว่า “ในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทนั้นกรรมการต้องใช้ความเอื้เฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง ว่าโดยเฉพาะกรรมการต้องรับผิดชอบร่วมกันในประการต่าง ๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) การใช้เงินค่าหุ้นนั้นได้ใช้กันจริง (2) จัดให้มีและรักษาไว้ให้เรียบร้อยซึ่งบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารที่กฎหมายกำหนดไว้ (3) การแจกเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้เป็นไปโดยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (4) บังคับการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามมติของที่ประชุมใหญ่ ฯลฯ” ดังนี้ เห็นได้ว่า เนื่องจากเหตุที่บริษัทเป็นนิติบุคคล จึงจำต้องมีกรรมการของบริษัทดำเนินกิจการภายในขอบเขตวัตถุประสงค์และข้อบังคับของบริษัทแทนบริษัท หากไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือนุกรรมการใดจัดการบริษัท กรรมการบริษัททั้งคณะก็จะต้องจัดการประกอบกิจการของบริษัทเอง ถ้ามอบอำนาจให้ผู้จัดการหรืออนุกรรมการอื่น ผู้จัดการหรืออนุกรรมการนั้นจะต้องทำตามสั่งหรือข้อบังคับซึ่งกรรมการบริษัทกำหนดให้ทุกอย่างทุกประการ และในการประกอบกิจการของบริษัทนี้ กรรมการหรือผู้จัดการที่ได้รับมอบอำนาจให้จัดการจะต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลผู้ค้าขาย ผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง และปกติกรรมการของบริษัทจะไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เว้นแต่กรณีตามมาตรา 1168(1) ถึง (4) ซึ่งกรรมการบริษัททั้งหมดจะต้องรับผิดร่วมกัน คดีนี้ แม้จะปรากฏตามข้อบังคับของบริษัทผู้ล้มละลาย ข้อ 13 ว่า “คณะกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบจัดการทั้งปวงของบริษัท ฯลฯ”แต่ก็มีข้อบังคับของบริษัทผู้ล้มละลายข้อ 15 ระบุว่า “บริษัทนี้ให้มีผู้จัดการ 1 นายโดยคณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน ฯลฯ” และ ข้อ 16 ระบุว่า “ผู้จัดการเป็นผู้รับผิดชอบจัดธุรกิจทั้งปวงของบริษัทตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการ”และตามคำขอจดทะเบียนบริษัทผู้ล้มละลาย ข้อ 8 และ ข้อ 9 ก็ระบุให้อำนาจจำเลยที่ 2 กรรมการผู้อำนวยการแต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการบริษัทได้โดยลำพังและมีอำนาจในการลงนามแทนบริษัท แต่ต้องประทับตราบริษัทเป็นสำคัญเว้นแต่การจ่ายเงินเกินกว่าห้าหมื่นบาทขึ้นไป จะต้องมีกรรมการอีกนายหนึ่งลงชื่อร่วมด้วย และได้ความตามคำเบิกความของนายบำรุง ดิษพันธ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทผู้ล้มละลาย และนางสาวนิภา โกมลวัฒนะ ผู้ตรวจสมุดบัญชีเอกสารของบริษัทผู้ล้มละลายพยานโจทก์ว่า ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บริษัทผู้ล้มละลายไม่มีกรรมการผู้จัดการ มีแต่จำเลยที่ 2กรรมการ ผู้อำนวยการผู้เดียวเป็นผู้สั่งการและอำนวยการบริษัท รวมทั้งมีอำนาจเบิกจ่ายเงิน อนุมัติการสั่งจ่ายเงิน ประธานกรรมการและกรรมการอื่นไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับการจัดการบริษัท และไม่มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินด้วย ดังนี้ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กรรมการผู้อำนวยการนี้ก็คือผู้จัดการที่ได้รับมอบอำนาจมาตามความในมาตรา 1164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นเอง ส่วนจำเลยอื่นซึ่งเป็นกรรมการบริษัทที่ไม่ใช่ผู้จัดการไม่มีหน้าที่จัดธุรกิจของบริษัท คงเป็นแต่ผู้แทนของบริษัทในฐานะที่บริษัทเป็นนิติบุคคล และมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในการประชุมกรรมการแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น สำหรับการประกอบกิจการของบริษัทผู้ล้มละลายนั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า กรรมการบริษัทได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้บริษัทผู้ล้มละลายเสียหายอยู่ 5 ประการ คือ (1) ไม่เรียกเก็บเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ(2) ให้ยืมเงินไปโดยไม่มีหลักฐานการกู้ยืมและหลักประกัน (3) ปล่อยให้เบี้ยประกันค้างที่ตัวแทนโดยไม่ติดตามทวงถาม (4) เงินสดในความครอบครองสูญหายไปสองแสนบาทเศษ (5) ทุนประกันชีวิตที่กันไว้เป็นทุนสำรองสูญหายไปสี่สิบสี่ล้านบาทเศษ ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นได้ความว่าเป็นการจัดธุรกิจของบริษัท ซึ่งอยู่ในความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบกิจการทั้งสิ้น จำเลยอื่นที่ไม่ใช่ผู้จัดการมิได้ไปยุ่งเกี่ยวด้วย ทั้งการกระทำดังกล่าวก็มิได้อยู่ในข้อใดข้อหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 ซึ่งกรรมการของบริษัทจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน จำเลยอื่นซึ่งเป็นกรรมการที่ไม่ใช่ผู้จัดการจึงไม่ต้องร่วมรับผิด และแม้จะได้ความตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าบริษัทผู้ล้มละลายขาดทุนตลอดมาทุกปี ทั้งเมื่อบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจำนวนต้นทุน กรรมการก็ไม่เคยเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงการขาดทุนนั้น ก็ปรากฏตามบัญชีงบดุลประจำปีของบริษัทว่าบัญชีดังกล่าวได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว แสดงว่าบรรดาผู้ถือหุ้นต่างก็ทราบถึงการขาดทุนเช่นเดียวกัน ไม่ปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นได้มีมติให้จัดการอย่างใด แล้วกรรมการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม การที่กรรมการละเลยไม่เรียกประชุมผู้ถือหุ้นนั้น เป็นข้อที่น่าตำหนิ แต่ก็มิใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้บริษัทผู้ล้มละลายเสียหายดังกล่าวข้างต้น จะฟังว่าจำเลยอื่นซึ่งไม่ใช่กรรมการผู้จัดการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทยังไม่ถนัด

พิพากษาแก้ เป็นให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share