แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4,6,9,14,31,35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4,11,48,73,74,74 ทวิ,74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 4,5,6,7,8,9 ริบของกลางจ่ายเงินสินบนแก่ผู้แจ้งความนำจับและจ่ายรางวัลแก่ผู้จับ จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันทำไม้ประดู่ที่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งยกเลิกโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 และได้บัญญัติความแทนว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 14 ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษ จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำไม้ประดู่ที่เป็น ไม้หวงห้ามประเภท ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้จำคุก คนละ 4 เดือน ต่ำกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายระวางโทษไว้จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้จ่ายรางวัล ร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษา เพราะประกาศดังกล่าวไม่สามารถจะแก้บทกฎหมายที่ตราไว้ได้ โดยโจทก์มีคำขอให้จ่ายรางวัลแก่ผู้นำจับ ซึ่งประกอบกับตามฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า การที่ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของราคา เครื่องเลื่อยยนต์ของกลางจึงไม่ถูกต้อง และศาลอุทธรณ์ มิได้แก้ไขให้ถูกต้องจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษา แก้เป็นให้ จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาเครื่องเลื่อยยนต์ของกลาง ที่ศาลสั่งให้ริบตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 และ 8
ย่อยาว
โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7,8, 9 ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนแก่ผู้แจ้งความนำจับและจ่ายรางวัลแก่ผู้จับ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48 วรรคหนึ่ง,73 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัด จำคุกคนละ 1 ปี ฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกับฐานทำไม้หวงห้ามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ฐานแปรรูปไม้ จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน รวมสามกระทง จำคุกคนละ 4 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 3 เดือน ริบของกลาง และให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบกับจ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของราคาเครื่องเลื่อยยนต์ของกลางคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันซื้อหรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามข้อจำกัด จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันทำไม้ จำคุกคนละ 4 เดือน และฐานร่วมกันแปรรูปไม้ จำคุกคนละ 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 10 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกคนละ 5 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำไม้ประดู่ที่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่ำกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายระวางโทษไว้หรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่งซึ่งยกเลิกโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 และได้บัญญัติความแทนว่า ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำไม้ประดู่ที่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้จำคุกคนละ 4 เดือนจึงต่ำกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายระวางโทษไว้ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว
ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายที่ว่า ที่ศาลชั้นต้นให้จ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของราคาของกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไข เพราะประกาศดังกล่าวไม่สามารถจะแก้บทกฎหมายที่ตราไว้ได้ประกอบกับตามฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของราคาเครื่องเลื่อยยนต์ของกลาง จึงไม่ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขให้ถูกต้องจึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้จำคุกคนละ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วจำคุกคนละ 3 เดือนเมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันซื้อหรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัดที่ให้จำคุกคนละ 1 เดือน และฐานร่วมกันแปรรูปไม้ที่ให้จำคุกคนละ 2 เดือน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1แล้วคงจำคุกคนละ 6 เดือน ให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาเครื่องเลื่อยยนต์ของกลางที่ศาลสั่งให้ริบตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 และ 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.