คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ.2486ก็ดี ประมวลกฎหมายที่ดิน หมวด 8 ก็ดี มุ่งหมายบัญญัติว่าคนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินมิได้ เว้นแต่จะเข้ากฎเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ฉะนั้น คนต่างด้าวที่จะได้มาซึ่งที่ดินมิได้จึงเป็นหลัก และกฎเกณฑ์ต่างๆที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นข้อยกเว้น หาใช่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามเด็ดขาดมิให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แล้วถือเป็นเหตุในการวินิจฉัยว่าคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เมื่อได้กรรมสิทธิ์แล้วก็มีสิทธิตั้งตัวแทนใส่ชื่อตัวแทนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่ เพราะการวินิจฉัยเช่นนั้นมีผลทำให้ความมุ่งหมายของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไร้ผลไปโดยสิ้นเชิง การที่คนต่างด้าวกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินโดยใส่ชื่อตัวแทนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จึงไม่มีผล ตกเป็นโมฆะ และย่อมมีผลเป็นการทั่วไปทั้งแก่รัฐและเอกชน หาใช่เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับคนต่างด้าวไม่ และแม้คนต่างด้าวนั้นจะได้รับสัญชาติไทยมาในภายหลัง ก็หาทำให้การอันเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก กลับฟื้นคืนดีขึ้นมาไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ออกเงินซื้อที่ดินโฉนด 2058 และ 3059 มาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม แต่การโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในขณะนั้นทำไม่ได้ เพราะโจทก์เป็นคนต่างด้าว โจทก์จึงตกลงกับจำเลยที่ 1 ให้ลงชื่อเป็นผู้รับโอนไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว ต่อเมื่อโจทก์รับอนุญาตคืนสัญชาติเป็นไทยแล้ว จำเลยที่ 1 จึงจะโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของต่อไป

ครั้นวันที่ 20 กันยายน 2499 จำเลยที่ 1 ทุจริตเอาที่ดินโฉนด 3059 ของโจทก์รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างไปขายฝากจำเลยที่ 2 กำหนดไถ่ใน 1 ปี 6 เดือน โดยโจทก์ไม่ทราบหรือรู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยที่ 2 ก็ทราบก่อนรับซื้อฝากว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของโจทก์ โจทก์ติดต่อจำเลยทั้งสองให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมบัดนี้ โจทก์รับอนุญาตคืนสัญชาติไทยมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้แล้ว จึงขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินโฉนด 3059 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ หากไม่สามารถทำได้ ก็บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนสิทธิไถ่ถอนการขายฝากให้โจทก์และให้จำเลยที่ 2 ยินยอมให้โจทก์ไถ่การขายฝากได้

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ตามฟ้องของโจทก์ที่ว่าเป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดิน แต่ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในการซื้อนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ทราบและไม่รับรู้ข้อตกลงนั้น อย่างไรก็ตาม แม้การจะเป็นจริงตามฟ้องโจทก์ ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 โจทก์ก็หาอาจที่จะใช้ความจริงที่ว่านั้นมายันจำเลยที่ 2 ให้เสียสิทธิใด ๆ ในที่ดินไปได้ไม่ เพราะ ก.โจทก์รับอยู่ตามฟ้องว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยไม่ได้ตามกฎหมายโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะกล่าวอ้างและนำสืบเพื่อให้ศาลรับฟังว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยอาศัยวิธีการหลีกเลี่ยงกฎหมายอย่างนั้นอย่างนี้ได้ เพราะถ้ายอมให้กล่าวและนำสืบเช่นนั้นได้กฎหมายห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ย่อมจะไม่มีผล ข.แม้จะยอมให้โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบเช่นที่ฟ้องมานี้ได้และโจทก์สืบสม ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 เสียสิทธิในการที่ได้รับซื้อฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 และได้จดทะเบียนการโอนที่ดินที่รับซื้อฝากนั้น เพราะจำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ซึ่งไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดโจทก์หามีสิทธิที่จะเรียกร้องให้เพิกถอนทางทะเบียนได้ไม่ นอกจากนี้ ผู้ขายฝากไม่ได้ไถ่ถอนภายในกำหนด จึงหมดสิทธิไถ่ และจำเลยที่ 2 มิได้ทราบเลยว่าที่ดินนั้นเป็นของบุคคลอื่นใดนอกไปจากจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทะเบียนและโฉนด

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โฉนด 3059 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยชอบทำสัญญาขายฝากให้จำเลยที่ 2 โดยสุจริตมีค่าตอบแทน

ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีกฎหมายที่ห้ามเด็ดขาดมิให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นแต่ว่าต้องรับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อน และมีการจำกัดปริมาณเนื้อที่ดิน ฯ ฉะนั้นศาลแปลว่าคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ไม่เป็นโมฆะ และที่ดินที่คนต่างด้าวได้กรรมสิทธิ์มาแล้ว ก็มีสิทธิตั้งตัวแทนใส่ชื่อตัวแทนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ไม่เป็นโมฆะ และศาลฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 เพียงแต่มีชื่อในโฉนดเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิไถ่ได้ และโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนดของสัญญา จึงพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับข้อที่ว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตนั้น ไม่เป็นข้อโต้เถียงกัน ประเด็นเป็นอันยุติ และข้อที่ว่าการกระทำของโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าว โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ ก็ฟังได้เป็นยุติเช่นกันว่าเป็นเช่นนั้นจริง ฟ้องของโจทก์ก็รับอยู่ ดังนี้ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีอยู่ว่า เมื่อการกระทำของโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นไปดังกล่าว โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือไม่ และโจทก์จะเข้าสวมสิทธิจำเลยที่ 1 ใช้สิทธินั้นต่อจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่เพียงใด

ศาลฎีกาพิเคราะห์ตัวบทกฎหมายเรื่องนี้แล้วเห็นว่า ความมุ่งหมายของกฎหมายดังได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ. 2486 ซึ่งเป็นกฎหมายเดิมก็ดี และประมวลกฎหมายที่ดิน หมวด 8 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ดีคนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินมิได้ เว้นแต่จะเข้ากฎเกณฑ์ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ฉะนั้น การที่คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินมิได้จึงเป็นหลัก และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นข้อยกเว้นเมื่อกฎหมายเป็นดังนี้ การที่จะวินิจฉัยว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามเด็ดขาดมิให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วถือเป็นเหตุในการวินิจฉัยต่อไปว่า คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ และเมื่อได้มาแล้วก็มีสิทธิตั้งตัวแทนใส่ชื่อตัวแทนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นว่า การที่คนต่างด้าวกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดิน โดยกรณีมิได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้การนั้นไม่มีผลประการใด หรืออีกนัยหนึ่ง การนั้นเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยชัดแจ้งเมื่อเป็นเช่นนี้ การที่คนต่างด้าวตั้งตัวแทนและใส่ชื่อตัวแทนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแทนตน จึงเกิดขึ้นมิได้ในตัว

การที่จะวินิจฉัยว่า การหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยที่ดินในส่วนที่เกี่ยวด้วยคนต่างด้าวเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับคนต่างด้าว ไม่เกี่ยวกับเอกชนต่อเอกชน เพราะเมื่อคนต่างด้าวไม่มีสิทธิจะถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เมื่อได้ที่ดินมาด้วยประการใด คนต่างด้าวก็ต้องจำหน่ายจ่ายโอนไป นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหาถูกต้องไม่ เพราะการฝ่าฝืนกฎหมายอันมีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะนั้น ย่อมมีผลเป็นการทั่วไปทั้งแก่รัฐและเอกชน ใครจะอ้างหรือถือเอาประโยชน์จากสิ่งที่เสียเปล่าไปแล้วนั้นไม่ได้ ส่วนการที่กฎหมายวางวิธีการให้คนต่างด้าวผู้ไม่มีสิทธิในที่ดินต้องจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินไปนั้นก็เป็นเพียงวิธีการ หาใช่หลักการที่จะถือเอามาเป็นเหตุวินิจฉัยแปลกฎหมายว่าคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ทั้ง ๆ ที่การมิได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นไม่ อนึ่ง การที่จะวินิจฉัยว่าคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ทั้ง ๆ ที่การมิได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยที่มีผลทำให้ความมุ่งหมายของกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไร้ผลไปโดยสิ้นเชิง

เป็นอันว่า ในขณะที่จำเลยที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมานั้น โจทก์เป็นคนต่างด้าวและการมิได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายที่โจทก์จะถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ ดังนี้ โจทก์จึงมิได้อยู่ในฐานะที่จะขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องได้ไม่ว่าในประการใด ส่วนการที่โจทก์ได้รับสัญชาติไทยมาในภายหลังนั้น หากมีจริง ก็หาทำให้การอันเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกกลับฟื้นคืนดีขึ้นมาไม่

จึงพิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์

Share