คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภรรยาผู้ตายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานฆ่าสามีตายโดยเจตนาซึ่งศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องไว้แล้ว ในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโจทก์ ผู้ว่าคดีได้ยื่นฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายสามีโจทก์ในมูลกรณีเดียวกัน ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด เช่นนี้ สิทธิของโจทก์ที่ได้ฟ้องคดีไว้แล้วย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
โจทก์ยื่นคำร้องขอโอนคดีจากศาลหนึ่งไปยังอีกศาลหนึ่งศาลมีคำสั่งว่าไม่มีอำนาจ ให้ยกคำร้องโจทก์ โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านอย่างใด แม้ในชั้นศาลอุทธรณ์ โจทก์ก็มิได้ยกเรื่องการโอนคดีขึ้นว่ากล่าวคัดค้าน จึงทำให้ประเด็นข้อนี้ยุติ โจทก์จะกล่าวอ้างขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบร่วมกันใช้มือเท้าชกต่อยและเตะทำร้ายร่างกายนายทองหลอม ดากรู๊ส จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บถึงตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83

ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีมีมูลให้ประทับรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาว่าจำเลยที่ 1 ได้ถูกผู้ว่าคดีเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลแขวงพระนครใต้ในฐานทำร้ายร่างกายนายทองหลอม ดากรู๊ส และศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เฉพาะตัวจำเลยที่ 1 เสียก่อน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องนี้แล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 จึงระงับไป ส่วนจำเลยที่ 2 เห็นว่าคดีโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ชกต่อยทำร้ายผู้ตาย จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2509 ในข้อหาความผิดฐานสมคบกันฆ่าคนตายโดยเจตนาซึ่งศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของโจทก์นั่นเอง ผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครใต้ได้ยื่นฟ้องเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายนายทองหลอม ดากรู๊ส ต่อศาลแขวงพระนครใต้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2509 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้วและปรากฏจากคำแถลงคัดค้านของโจทก์ทำให้เห็นได้ชัดว่า คดีนี้กับคดีอาญาของศาลแขวงพระนครใต้เป็นกรณีของการกระทำอันเดียวกัน ซึ่งผู้มีอำนาจฟ้องตามกฎหมาย ต่างได้ฟ้องจำเลยคนเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อศาลแขวงพระนครใต้ได้พิพากษาคดีเรื่องนี้เสร็จเด็ดขาดไปก่อนศาลอาญา และคดีถึงที่สุดแล้ว เช่นนี้ จึงต้องปรับกรณีเข้าด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง” ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 1124/2496

สำหรับฎีกาโจทก์ข้อ 2ข. นั้น เห็นว่า เรื่องการขอโอนคดีจากศาลแขวงพระนครใต้มาพิจารณาที่ศาลอาญา ซึ่งโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาและศาลอาญามีคำสั่งว่าไม่มีอำนาจ ให้ยกคำร้องของโจทก์นั้น โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านอย่างใด แม้ในชั้นศาลอุทธรณ์โจทก์ก็มิได้ยกเรื่องการโอนคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวคัดค้านแต่ประการใดจึงทำให้ประเด็นในข้อนี้ยุติแล้ว โจทก์เพิ่งจะกล่าวอ้างขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาอีก และศาลชั้นต้นสั่งรับในฎีกาข้อนี้ จึงไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ไม่ได้ว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ประเด็นข้อนี้ยุติแล้วศาลฎีกาจึงไม่ต้องพิจารณา

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาของโจทก์เสีย

Share