แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน นิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนจดทะเบียนนิติกรรมจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดินพิพาทพบว่าเป็นที่นา จำเลยที่ 2 ไปดูที่ดินพิพาทอีกหลายครั้งและสอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทได้รับการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนจำเลยที่ 2 สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าจำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจดทะเบียนขายฝากเสร็จจำเลยที่ 1 เดินทางไปที่บ้านพักจำเลยที่ 2 และรับเงินจากจำเลยที่ 2 เรียบร้อย จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต กรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 สิทธิของจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่ตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของผู้ตาย ซึ่งมีโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองรวมอยู่ด้วย จะทำให้โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 43039 ตำบลวัดธาตุอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ทั้งสามเนื้อที่คนละ 2 ไร่ 1 งานเศษ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางสาวสมภาร ผู้ร้องที่ 1 กับนางพัยสาร ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางสมร ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โดยให้เรียกผู้ร้องที่ 1 ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เรียกผู้ร้องที่ 2 ว่า โจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 43039 ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ในส่วนของที่ดินพิพาทที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมร ไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองคนละ 1 ส่วนใน 8 ส่วนของเนื้อที่ที่พิพาทตามโฉนดที่ดินดังกล่าวข้างต้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอีกจำนวน 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา นายสมหมาย สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ร่วมที่ 2 แถลงว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายแล้ว นายสมหมายขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้มรณะ พิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้นายสมหมาย เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 43039 ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เป็นทรัพย์มรดกของนางสมร ผู้ตาย โจทก์ทั้งสาม โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จดทะเบียนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน นิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งในเรื่องการจดทะเบียน ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองมิได้นำสืบโต้แย้งในส่วนนี้ว่า ก่อนจดทะเบียนนิติกรรมจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดินพิพาทพบว่ามีลักษณะเป็นที่นา จำเลยที่ 2 กลับมาปรึกษาสามีและพาสามีไปดูที่ดินพิพาทอีกหลายครั้ง เมื่อไปสอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทได้รับการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนจำเลยที่ 2 สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าจำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ได้ เมื่อดำเนินการจดทะเบียนนิติกรรมขายฝากเสร็จจำเลยที่ 1 เดินทางไปที่บ้านพักจำเลยที่ 2 และรับเงินจากจำเลยที่ 2 เรียบร้อย ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวจึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต กรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ซึ่งคุ้มครองเป็นพิเศษ สิทธิของจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ ที่โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองแก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นมรดกตกแก่ทายาทอื่นไปขายฝากแก่บุคคลภายนอกโดยทายาทไม่ยินยอมนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสมร ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่ตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ซึ่งไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท และการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่ทำการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของผู้ตาย ซึ่งมีโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองรวมอยู่ด้วย จะทำให้โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ