คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างที่ประสบอันตรายและจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 5 ต้องเป็นลูกจ้างที่ได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง การที่โจทก์ขับรถบรรทุกไปส่งวัสดุก่อสร้างที่บ้านของลูกค้านายจ้างแล้วขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อไปยืมเงินเพื่อนบิดาของโจทก์ ทำให้รถของนายจ้างติดหล่ม โจทก์จึงขับรถจักรยานยนต์ไปตามเพื่อนมาช่วยยกรถที่ติดหล่ม และประสบอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานยนต์อื่นที่วิ่งตัดหน้าในระหว่างที่ขับรถจักรยานยนต์ไปตามเพื่อนจนทำให้ตาขวาของโจทก์บอดสนิท สมองช้ำ นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ขับรถของนายจ้างไปทำธุระส่วนตัวอันเป็นการกระทำนอกทางการที่จ้าง เมื่อโจทก์ขับรถของนายจ้างไปติดหล่มย่อมเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่โจทก์จะต้องแก้ไขความผิดพลาดอันเกิดจากการกระทำของตนเองและจำเป็นต้องจัดการเอารถของนายจ้างขึ้นจากหล่มให้ได้เพื่อปกปิดมิให้นายจ้างทราบว่าตนเองขับรถของนายจ้างออกนอกเส้นทางไปทำธุระส่วนตัว โดยนายจ้างไม่ทราบว่าโจทก์แอบขับรถของนายจ้างไปทำธุระส่วนตัวนอกทางการที่จ้าง ดังนี้ การประสบอุบัติเหตุของโจทก์เพราะสาเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการประสบอันตรายตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยและคำสั่งของจำเลยให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่คู่ความรับกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถส่งวัสดุก่อสร้างให้นายจ้างที่ใช้ชื่อร้านว่า เสาเอก 2 และนายจ้างได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา นายจ้างสั่งให้โจทก์ขับรถนำวัสดุก่อสร้างไปส่งให้ลูกค้าของนายจ้างที่หมู่บ้านถ่าน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยวิ่งไปตามถนนสายสุรินทร์ – ปราสาท แล้วเลี้ยวเข้าถนนเลียบคลองชลประทาน เมื่อไปถึงบ้านลูกค้าและขนวัสดุก่อสร้างลงให้แก่ลูกค้าจนเสร็จแล้ว โจทก์ได้ขับรถกลับไปตามถนนเลียบคลองชลประทานเพื่อกลับไปสถานที่ทำงานของนายจ้างแต่ระหว่างทางผ่านบ้านของนายสืบพงศ์ โจทก์แวะเข้าไปบ้านนายสืบพงศ์ โดยถอยรถเข้าไปจอดในทางเข้าบ้านห่างถนนประมาณ 10 เมตร ให้นายวิเชียรเพื่อนร่วมงานซึ่งไปด้วยนั่งรออยู่ที่รถเป็นเวลาประมาณ 30 นาที โจทก์กลับออกมาเพื่อจะขับรถกลับไปที่ร้านของนายจ้าง แต่รถติดหล่มโจทก์จึงขับรถจักรยานยนต์ไปตามเพื่อนคนงานมาช่วยแต่เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ขับรถของนายจ้างเพื่อไปส่งวัสดุก่อสร้างให้ลูกค้าของนายจ้าง ถือว่าโจทก์ทำงานให้นายจ้างตามคำสั่งของนายจ้างโดยชอบ หลังจากส่งวัสดุก่อสร้างให้ลูกค้าของนายจ้างเสร็จแล้ว ที่โจทก์แวะไปที่บ้านนายสืบพงศ์เพื่อขอยืมเงินยังถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำนอกทางการที่จ้างหรือขับรถออกนอกเส้นทาง เมื่อรถของนายจ้างติดหล่มไม่สามารถขับกลับไปยังร้านของนายจ้างได้ โจทก์ก็มีหน้าที่ที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้สามารถนำรถกลับไปยังร้านของนายจ้างให้ได้ ที่โจทก์ยืมรถจักรยานยนต์ของน้องชายกลับไปที่ร้านของนายจ้างเพื่อตามคนงานที่เป็นเพื่อนร่วมงานไปช่วยเข็นหรือแก้ไขรถของนายจ้างและเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการทำงานให้นายจ้างในการทางที่จ้าง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนตามกฎหมาย
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานอันจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ขับรถบรรทุกหกล้อไปส่งวัสดุก่อสร้างที่บ้านลูกค้าและออกนอกเส้นทางปฏิบัติงานโดยแวะไปพบเพื่อนบิดาเพื่อขอยืมเงินนั้นเป็นการทำธุระส่วนตัว และที่โจทก์ไปตามเพื่อนมาช่วยยกรถที่ติดหล่มและเกิดอุบัติเหตุนั้น ไม่ใช่การประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 ลูกจ้างที่จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนนั้นต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้างเท่านั้น คดีนี้โจทก์ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากโจทก์ขับรถของนายจ้างไปติดหล่ม และโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ไปตามเพื่อนมาช่วยยกรถที่ติดหล่มนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า สาเหตุที่โจทก์ขับรถติดหล่มเกิดจากโจทก์ขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อไปยืมเงินเพื่อนบิดาของโจทก์ แม้การออกนอกเส้นทางของโจทก์จะเป็นเพียงขับรถของนายจ้างเข้าไปจอดในทางเข้าบ้านเพื่อนบิดาของโจทก์ โดยจอดห่างถนนเข้าไปประมาณ 10 เมตร เพื่อมิให้กีดขวางถนนก็ตาม แต่ก็เป็นการขับรถของนายจ้างไปทำธุระส่วนตัวของโจทก์แล้วอันเป็นการกระทำนอกทางการที่จ้าง เมื่อโจทก์ขับรถของนายจ้างไปติดหล่มย่อมเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่โจทก์จะต้องแก้ไขความผิดพลาดอันเกิดจากการกระทำของตนเองที่ขับรถของนายจ้างไปนอกเส้นทางเพื่อประโยชน์ของตน และโจทก์จำเป็นต้องจัดการเอารถของนายจ้างขึ้นจากหล่มให้ได้เพื่อปกปิดมิให้นายจ้างทราบว่าขับรถของนายจ้างออกนอกเส้นทางไปทำธุระส่วนตัวและเพื่อให้การทำงานในหน้าที่ของตนเสร็จสิ้นไป โดยนายจ้างไม่ทราบว่าโจทก์แอบขับรถนายจ้างไปทำธุระส่วนตัวอันเป็นการกระทำนอกทางการที่จ้าง ดังนั้นเมื่อโจทก์ขับรถจักรยานยนต์เพื่อไปตามเพื่อนร่วมงานมาช่วยยกรถของนายจ้าง และประสบอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานยนต์อื่นที่วิ่งตัดหน้าจนทำให้ตาขวาของโจทก์บอดสนิท สมองช้ำ จึงไม่เป็นการประสบอันตรายตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนที่ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share