แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยจำนวน13,136,836.25บาทให้แก่โจทก์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าธรรมเนียมล่วงเวลาจำนวน8,880,000บาทในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
ย่อยาว
จำเลยให้การว่า ค่าธรรมเนียมล่วงเวลาสำหรับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่อากาศยานมิได้อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และ/หรือประกาศของกรมศุลกากร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายก ฟ้อง โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมล่วงเวลาส่วนที่ยังขาดอยู่ตามฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาดังกล่าว โจทก์ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 110 และมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469ประกอบด้วยกฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ให้ไว้ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483ฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2521) และประกาศกรมศุลกากรที่ 14/2521ซึ่งบทบัญญัติของมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469บัญญัติว่า “ถ้าเรือลำใดบรรทุกหรือถ่ายออก ซึ่งของหรือสินค้าอย่างใด ๆ ก็ดี หรือกระทำการงานอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ในวันอาทิตย์วันหยุด หรือก่อน หรือภายหลังเวลาราชการดังกล่าวไว้ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงนอกจากจะได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน และได้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง ท่านว่านายเรือ หรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกัน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทแต่การที่ต้องรับผิดตามมาตรานี้ไม่กระทำให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากโทษที่จะพึงต้องรับตามมาตราอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้” มาตรา 122บัญญัติว่า “ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดวันหยุดและเวลาราชการศุลกากร กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม” ส่วนคำว่า”นายเรือ” หมายความว่าบุคคลใด ๆ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือควบคุมเรือ “เรือกำปั่น หรือเรือ” ให้มีความหมายรวมถึงอากาศยานดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2480 มาตรา 3(1)ดังนั้นคำว่า “นายเรือ” จึงมีความหมายถึงผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยานและมีหน้าที่รับผิดชอบตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากรและตามบทบัญญัติมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ระบุตัวผู้รับผิดไว้คือนายเรือ หรือตัวแทน หรือทั้งสองคนร่วมกันเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ แม้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติความรับผิดในทางอาญา ส่วนความรับผิดในค่าธรรมเนียมล่วงเวลาเป็นความรับผิดทางแพ่ง แต่การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่อากาศยานเป็นการกระทำการงานอย่างหนึ่งอย่างใดแก่อากาศยาน ซึ่งนายเรือผู้ควบคุมอากาศยานเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จึงเป็นหน้าที่ของนายเรือหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันที่จะต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมดังกล่าว ทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้ผู้ยื่นคำขอทำการไว้ต่อพนักงานศุลกากรเป็นผู้รับผิดจำเลยเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่บริษัทสายการบิน เพื่อใช้เติมให้แก่อากาศยาน มิใช่นายเรือและไม่ได้ความว่าเป็นตัวแทนนายเรือตามบทบัญญัติ มาตรา 110แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมล่วงหน้าในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแก่อากาศยานตามฟ้องแก่โจทก์”
พิพากษายืน