แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างโรงพยาบาลกับกระทรวงสาธารณสุขแล้วทำสัญญากับธนาคารผู้ร้องโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยในเงินค่าจ้างเหมาทั้งหมดที่จะได้รับตามสัญญาเป็นเงิน 9 ล้านบาทเศษให้แก่ผู้ร้อง เพื่อเป็นการชำระหนี้ที่กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้ร้อง 3 ล้านบาท ดังนี้ ผู้ร้องมีสิทธิในเงินดังกล่าว เพราะสิทธิเรียกร้องนั้นย่อมโอนให้แก่กันได้ และกฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องมีค่าตอบแทนแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่าหนี้สินที่จำเลยมีต่อผู้ร้องจะมากหรือน้อยกว่าสิทธิเรียกร้องที่มี ต่อกระทรวงสาธารณสุข เมื่อจำเลยโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องโดยชอบ ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิ
เมื่อลูกหนี้ของจำเลยให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องแล้วจำเลยจึงมิใช่เจ้าหนี้อันลูกหนี้มีสิทธิที่จะเลือกชำระหนี้ได้การที่ลูกหนี้ส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขออายัดของโจทก์โดยสำคัญผิด เมื่อได้บอกล้างในภายหลังการชำระหนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอถอนการอายัดได้
จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้แต่ผู้เดียว ผู้ร้องย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิร้องขอให้ถอนการอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้รับชำระหนี้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกัน ให้รับผิดชดใช้เงินตามสัญญากู้ยืม ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 4 และทำสัญญาประนีประนอมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่อหน้าศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม หลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดเงินหนึ่งล้านบาทเศษ ซึ่งจำเลยที่ 1มีสิทธิได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเงินมายังเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยสำคัญผิด เพราะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องสำหรับเงินจำนวนนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ไปก่อนแล้วโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความยินยอม กระทรวงสาธารณสุขจึงมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีระงับการจ่ายเงินและส่งเงินคืนเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์
ธนาคารกรุงไทย จำกัด ยื่นคำร้องว่า เงินที่กระทรวงสาธารณสุขส่งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามหนังสือแจ้งอายัดเป็นของผู้ร้องเพราะผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 โดยกระทรวงสาธารณสุขให้ความยินยอม ขอให้เพิกถอนการอายัด
โจทก์คัดค้านว่า การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสิทธิเรียกร้องยังไม่เกิดขึ้นขณะมีการโอน เจ้าพนักงานบังคับคดีรับเงินดังกล่าวไว้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ร้องสมยอมกับจำเลยที่ 1 เพราะหนี้สินซึ่งจำเลยที่ 1 มีต่อผู้ร้องน้อยกว่าจำนวนเงินที่ขออายัด ผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสีย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งถอนการอายัดเงินของเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อฎีกาที่โจทก์อ้างว่าผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวเกินไปจากหนี้สินที่จำเลยที่ 1 มีต่อผู้ร้อง และจำเลยที่ 1 ก็ได้ชำระหนี้ไปครบถ้วนแล้ว นั้น เห็นว่า สิทธิเรียกร้องย่อมโอนให้แก่กันได้ และกฎหมายมิได้บัญญัติว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องมีค่าตอบแทนแต่อย่างใด ไม่ว่าหนี้สินที่จำเลยที่ 1 มีต่อผู้ร้องจะมากหรือน้อยกว่าสิทธิเรียกร้องที่มีต่อกระทรวงสาธารณสุข เมื่อจำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องโดยชอบ ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิในเงินจำนวนนั้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เลือกชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1แล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอถอนการอายัดนั้น เห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเงินตามหนังสืออายัดมาให้เจ้าพนักงานบังคับดคีโดยสำคัญผิด เพราะเมื่อได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมิใช่เจ้าหนี้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีสิทธิเลือกชำระหนี้ได้ ภายหลังเมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีระงับการจ่ายเงินและส่งเงินคืน อันเป็นการบอกล้างการชำระหนี้นั้นแล้ว การชำระหนี้จึงไม่สมบูรณ์ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างดังกล่าวย่อมมีสิทธิร้องขอให้ถอนการอายัดได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียไม่มีสิทธิร้องขอให้ถอนการอายัดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้แต่ผู้เดียว การอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้รับชำระหนี้ ผู้ร้องย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิร้องขอให้ถอนการอายัดนั้นได้
พิพากษายืน