คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยให้เปิดทางภารจำยอมและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์ออกไปให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร ตามสิทธิที่ได้จดทะเบียนไว้เนื่องจากผู้เช่าช่วงที่ดินจาก ย. ซึ่งเช่าที่ดินของโจทก์ได้ทำการรอนสิทธิภารจำยอม ทำให้ใช้ประโยชน์ได้เพียงกว้าง 3 เมตรโจทก์ให้การว่า จำเลยใช้ทางกว้างเพียง 3 เมตร เกิน 10 ปีแล้วภารจำยอมในส่วนที่เกินกว่านั้นเป็นอันขาดอายุความ ประเด็นจึงมีว่าโจทก์ต้องเปิดทางภารจำยอมให้กว้าง 8 เมตร หรือไม่ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุที่โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิได้เต็มตามภารจำยอมเพราะการรอนสิทธิ มิใช่โจทก์ไม่ประสงค์จะใช้ภารจำยอมจึงไม่ได้สิ้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่า จำเลยไม่ได้ใช้ภารจำยอมเต็มตามสิทธิ คงใช้กว้างเพียง 3 เมตรเป็นการอ้างเหตุอย่างเดียวกันและที่อ้างอีกว่าจำเลยไม่มีความจำเป็นใช้ภารจำยอมเนื่องจากมีทางอื่นเดินก็เป็นเหตุที่มีอยู่ในขณะที่โจทก์ให้การในคดีก่อน แต่หาได้ยกขึ้นไม่ ส่วนที่โจทก์เสนอชดใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยมาด้วยนั้นจะวินิจฉัยได้ต่อเมื่อได้วินิจฉัยว่า โจทก์ต้องเปิดทางภารจำยอมให้มีขนาดกว้าง8 เมตร หรือไม่ก่อน คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 โดยซื้อมาจากนางดวงกลม พูลรักษ์ เมื่อวันที่ 6กรกฎาคม 2533 เดิมเป็นของนางอมรา เหรียญสุวรรณ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2532 นางอมราได้ขายให้แก่นางดวงกลมขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 ที่ดินดังกล่าวมีภาระผูกพันที่ต้องให้สถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเช่ากำหนด 15 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2522 ปัจจุบันสถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงอยู่ในสภาพเดิม จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13101 ซึ่งอยู่ด้านหลังติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2109ของโจทก์และได้ภารจำยอมเหนือที่ดินของโจทก์โดยนางอมราเจ้าของที่ดินเดิมได้จดทะเบียนภารจำยอมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13101ของจำเลยมีสิทธิใช้ทางเดินเรือวางสายไฟฟ้า น้ำประปาท่อระบายน้ำ และสายโทรศัพท์บนที่ดินของโจทก์ขนาดกว้าง8 เมตร ยาว 30 เมตร ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2527 นับแต่วันที่จดทะเบียนภารจำยอมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์และไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ทางเดินวางสายไฟฟ้า น้ำประปา ท่อประปา ท่อระบายน้ำหรือสายโทรศัพท์ในที่ดินส่วนที่ตกเป็นภารจำยอม เนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ติดต่อกันอยู่ก่อนและติดถนนสาธารณะซึ่งมีทางเดินเข้าออกได้อีก 2 ทาง ปัจจุบันจำเลยและบริวารได้ใช้ทางดังกล่าวเข้าออกเป็นประจำในการวางสายไฟฟ้า น้ำประปา ท่อระบายน้ำ และสายโทรศัพท์จำเลยก็ไม่ได้วางผ่านที่ดิน ส่วนที่ตกเป็นภารจำยอม ทั้งไม่เคยใช้ประโยชน์ส่วนที่อยู่ใต้พื้นดินจำเลยคงใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่ตกเป็นภารจำยอมกว้างเพียง 3 เมตร ยาว 30 เมตรเท่านั้น แต่การดำเนินกิจการสถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้มีสิทธิการเช่าบนที่ดินของโจทก์ จำเป็นต้องใช้ที่ดินทั้งบนพื้นดินและใต้พื้นดินเพื่อเก็บถังน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นการที่จำเลยให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนทางภารจำยอมทั้งส่วนที่อยู่บนที่ดินและใต้พื้นดิน จึงทำให้โจทก์ต้องเสียเงินนับล้านบาทซึ่งไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ หากจำเลยจะวางสายไฟฟ้าน้ำประปา ท่อระบายน้ำ หรือสายโทรศัพท์ก็สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรื้อสิ่งปลูกสร้างหรือถังน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ใต้ดินออก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 โจทก์มีหนังสือขอให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่ตกเป็นภารจำยอมพ้นจากภารจำยอมทั้งหมดโดยเสนอค่าทดแทนให้แก่จำเลยเป็นเงินจำนวน 100,000 บาทจำเลยได้รับหนังสือแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 ตำบลดุสิต อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานครของโจทก์พ้นจากการตกเป็นภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 13101ของจำเลยทั้งหมดและให้จำเลยรับเงินค่าทดแทนจำนวน 100,000บาท จากโจทก์ภายใน 10 วัน ภายหลังจากการจดทะเบียนดังกล่าวหากจำเลยไม่ไปขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 13101ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 ของโจทก์ โดยซื้อมาจากนางอมรา เหรียญสุวรรณ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2527 เนื่องจากที่ดินที่จำเลยซื้อไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะต้องเดินผ่านที่ดินของโจทก์ออกสู่ถนนสาธารณะ นางอมราจึงจดทะเบียนภารจำยอมบนที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 2109 ให้แก่ที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 13101 โดยให้จำเลยมีสิทธิใช้ทางเดิน วางสายไฟฟ้าน้ำประปา ท่อระบายน้ำและสายโทรศัพท์บนที่ดินโฉนดเลขที่ 2109ขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร ขณะโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2109มาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2533 ที่ดินของโจทก์นอกจากจะตกเป็นภารจำยอมดังกล่าวแล้วยังมีภาระการเช่า และเช่าช่วงกับนายยันต์ชัยสงวนดีกุล และบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ดประเทศไทย จำกัดซึ่งสัญญาเช่ามีกำหนดเวลา 15 ปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2522บัดนี้สัญญาเช่าได้สิ้นสุดแล้ว นับแต่จำเลยได้ภารจำยอมเป็นต้นมาบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในฐานะผู้เช่าช่วงได้กระทำการรอนสิทธิในที่ดิน ส่วนที่จดทะเบียนภารจำยอมหลายประการเช่น ปลูกสร้างกำแพงคอนกรีตและอุปกรณ์ของถังน้ำมันเชื้อเพลิงใต้ดิน ใช้ที่ดินเป็นที่จอดรถของผู้มาใช้บริการ ขุดเจาะและวางท่อสิ่งปลูกสร้าง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์จากภารจำยอมได้เต็มตามสิทธิคงใช้เป็นทางเดินกว้างเพียง3 เมตร ลึก 30 เมตร เท่านั้น จำเลยบอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงฟ้องขอให้โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนพื้นดินและให้พื้นดินที่จำเลยได้ภารจำยอมออกทั้งหมด ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้โจทก์และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนพื้นดินและใต้พื้นดินออกไปเสียจากบริเวณภารจำยอมและให้เปิดทางภารจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตรกับปรับสภาพพื้นดินให้เรียบตามเดิม ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14258/2538 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ทั้งโจทก์มิใช่เจ้าของสิ่งปลูกสร้างและถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงใต้ดินดังกล่าว จึงมิได้เสียหายจากการรื้อถอนตามคำพิพากษาศาลฎีกา สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด สิ้นสุดแล้ว แต่ยังมีการเช่ากันต่อแสดงว่าผู้เช่าไม่ติดใจในเรื่องภารจำยอม จำเลยยังมีความจำเป็นต้องใช้ทางภารจำยอมตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามคำร้องของจำเลยว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนพื้นดินและใต้พื้นดินออกไปจากบริเวณภารจำยอมเปิดทางภารจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตรและปรับสภาพพื้นดินให้เรียบตามเดิมแล้ว โจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว จะรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14258/2538 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14258/2538 ของศาลชั้นต้นเป็นเรื่องที่จำเลยคดีนี้ (โจทก์คดีก่อน) ขอใช้สิทธิตามภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 เต็มเนื้อที่ที่จดทะเบียนไว้ โดยขอให้บังคับโจทก์คดีนี้ (จำเลยคดีก่อน) ให้ปฏิบัติตามภารจำยอม ส่วนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องที่ภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2109 เป็นประโยชน์แก่ที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 13101 อยู่บ้างและเมื่อเทียบกับภาระอันตกอยู่แก่ที่ดินภารยทรัพย์โฉนดเลขที่ 2109 แล้ว ประโยชน์นั้นน้อยนักเพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 13101 ของจำเลยมีทางออกทางอื่นที่สะดวกอยู่แล้ว ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของทั้งสองคดีแตกต่างกันและแต่ละคดีนั้นศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ต่างกันเห็นว่า คดีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 นั้น คือ คดีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน โจทก์และจำเลยในคดีนี้ต่างเป็นจำเลยและโจทก์ในคดีก่อนคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14258/2538 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นคู่ความเดียวกัน คดีก่อนจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยให้เปิดทางภารจำยอมและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนที่ดินและใต้พื้นดินออกไปเสียจากบริเวณภารจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตรตามสิทธิที่ได้จดทะเบียนภารจำยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้และปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบตามเดิม เนื่องจากบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในฐานะผู้เช่าที่ดินจากนายยันต์ชัยซึ่งเช่าที่ดินของโจทก์ได้กระทำการรอนสิทธิในที่ดินส่วนที่จดทะเบียนเป็นภารจำยอมหลายประการ เช่น ปลูกสร้างกำแพงคอนกรีตและอุปกรณ์ของถังน้ำมันใต้ดิน ใช้เป็นที่จอดรถของผู้มาใช้บริการขุดเจาะและวางท่อสิ่งปลูกสร้าง เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์จากภารจำยอมได้เต็มตามสิทธิ โดยคงใช้ประโยชน์จากภารจำยอมได้เพียงกว้าง 3 เมตรลึก 30 เมตรเท่านั้น โจทก์ให้การในคดีก่อนตอนหนึ่งว่า จำเลยใช้ทางภารจำยอมเดินเข้าออกกว้างเพียง 3 เมตร ลึก 30 เมตรตลอดมาเกินกว่า 10 ปี แล้ว หากจำเลยจะมีสิทธิใช้ทางภารจำยอมก็ไม่ควรกว้างเกิน 3 เมตร ลึก 30 เมตร สิทธิเรียกร้องภารจำยอมในส่วนที่เกินกว่าความกว้าง 3 เมตร ลึก 30 เมตร จึงเป็นอันขาดอายุความ ไม่มีสิทธิเรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้นประเด็นสำคัญแห่งคดีก่อนจึงมีว่าโจทก์ต้องเปิดทางภารจำยอมให้มีความกว้าง8 เมตร ลึก 30 เมตร ตามที่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้หรือไม่ ซึ่งคดีก่อนศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุที่โจทก์ (จำเลยคดีนี้)ไม่สามารถใช้สิทธิได้เต็มตามภารจำยอมที่ได้จดทะเบียนไว้ก็เป็นเพราะผู้เช่าและผู้เช่าช่วงซึ่งเป็นบริวารของจำเลย (โจทก์คดีนี้)ได้กระทำการรอนสิทธิโจทก์ (จำเลยคดีนี้) มิใช่เป็นเพราะโจทก์(จำเลยคดีนี้) ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิเต็มตามภารจำยอมภารจำยอมส่วนที่เกินความกว้าง 3 เมตร ลึก 30 เมตร จึงหาได้สิ้นไปไม่ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลย(โจทก์คดีนี้) และบริวารเปิดทางภารจำยอมและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนพื้นดินและใต้ดินออกไปจากบริเวณภารจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร และปรับสภาพพื้นดินให้เรียบตามเดิมตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2433/2540 คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนและต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวอันถึงที่สุดมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นโจทก์คดีก่อนเป็นคดีนี้ โดยอ้างเหตุว่านับแต่วันที่จดทะเบียนภารจำยอมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากภารจำยอมเต็มตามสิทธิที่ได้จดทะเบียนภารจำยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้ โดยจำเลยคงใช้ประโยชน์จากภารจำยอมกว้างเพียง 3 เมตร ลึก 30 เมตรเท่านั้น เป็นการอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วดังกล่าวข้างต้น และที่โจทก์อ้างเหตุอีกว่าจำเลยไม่มีความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ภารจำยอมเนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ติดกันอยู่ก่อนและมีทางอื่นเดินเข้าออกอีก 2 ทางนั้น ก็เป็นเหตุที่มีอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นคำให้การในคดีก่อนแล้ว โจทก์อาจยกขึ้นต่อสู้กับจำเลยได้ในคดีก่อน แต่หาได้ยกขึ้นต่อสู้ไม่ ส่วนที่โจทก์ได้เสนอชดใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยมาด้วยนั้น จะเป็นประเด็นให้วินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นหลักว่า โจทก์ต้องเปิดทางภารจำยอมให้มีขนาดกว้าง 8 เมตร ลึก 30 เมตร ตามที่ได้มีการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้หรือไม่ก่อน ดังนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14258/2538ของศาลชั้นต้น กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ที่ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share