คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 197-199/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 (3) มีผลว่า หากผู้รับเหมาค่าแรงมีนิติสัมพันธ์ต่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเท่าใด ผู้ประกอบกิจการก็ต้องรับผิดต่อลูกจ้างนั้นตามสัญญาที่นายจ้างผู้รับเหมาค่าแรงทำไว้กับลูกจ้างเท่านั้น แต่จะขอให้บังคับให้ผู้ประกอบกิจการรับผิดและให้ผูกพันดังเช่นลูกจ้างของผู้ประกอบกิจการที่ได้จ้างลูกจ้างนั้นโดยตรงหาได้ไม่ จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เกินกว่าที่นายจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับเหมาค่าแรงต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 6 วันทำงาน ตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างผู้รับเหมาค่าแรงแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยจัดให้โจทก์ได้หยุดพักผ่อนประจำปีหรือได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามคู่มือระเบียบข้อบังคับการทำงานสวัสดิการพนักงานของจำเลยได้มากกว่านี้อีก

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องเป็นใจความอย่างเดียวกันว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของบริษัทพลพัฒน์ บิสซิเนส จำกัด ผู้รับการว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรง บริษัทพลพัฒน์ บิสซิเนส จำกัด ได้ให้โจทก์ทั้งสามไปทำงานให้แก่จำเลยในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลย จำเลยจึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 (3) ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและสวัสดิการพนักงานของจำเลยจึงมีผลผูกพันจำเลย ลูกจ้างของจำเลย และลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสามด้วย บริษัทพลพัฒน์ บิสซิเนส จำกัด ได้กำหนดให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายปีละ 6 วัน แต่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวด 6 ได้กำหนดวันหยุดและหลักเกณฑ์การหยุดวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างตามอายุงาน โดยพนักงานที่มีอายุงาน 1 ปีขึ้นไปมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 6 วันทำงาน พนักงานที่มีอายุงาน 3 ปีขึ้นไป มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 8 วันทำงาน พนักงานที่มีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 10 วันทำงาน พนักงานที่มีอายุงาน 7 ปีขึ้นไป มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 12 วันทำงาน พนักงานที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 15 วันทำงาน โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีอายุงานครบ 5 ปีขึ้นไป ส่วนโจทก์ที่ 3 มีอายุงานครบ 3 ปีขึ้นไป แต่โจทก์ทั้งสามยังคงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเพียง 6 วันทำงานเช่นเดิม จำเลยไม่ยอมให้สิทธิดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามได้เรียกร้องต่อนายจ้าง โจทก์ทั้งสามและจำเลยแล้ว แต่บุคคลทั้งสองเพิกเฉย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสามกรณีที่ไม่ให้โจทก์ทั้งสามหยุดพักผ่อนประจำปี 2545 ปี 2546 และปี 2547 ตามข้อบังคับของจำเลยในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 คิดเป็นเงินคนละ 1,348 บาท ส่วนของโจทก์ที่ 3 คิดเป็นเงิน 1,008 บาท ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2542 หมวดที่ 6 ข้อ 3.1 และให้จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสามที่ไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อบังคับดังกล่าวในปี 2545 ปี 2546 และปี 2547 คนละ 1,348 บาท 1,348 บาท และ 1,008 บาท ตามลำดับ และให้จำเลยจัดสวัสดิการตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนสวัสดิการพนักงานทั้งสิบเก้ารายการแก่โจทก์ทั้งสามด้วย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างบริษัทพลพัฒน์ บิสซิเนส จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด บี แอนด์ เค กรุ๊ป เซอร์วิส ทำงานบางส่วนในกระบวนการผลิตของจำเลยให้แล้วเสร็จตามสัญญา โดยผู้รับจ้างได้ส่งลูกจ้างมาทำงานให้จำเลยตามจำนวนที่ตกลงกัน โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างของบริษัทพลพัฒน์ บิสซิเนส จำกัด ส่วนโจทก์ที่ 3 เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด บี แอนด์ เค กรุ๊ป เซอร์วิส ผู้รับจ้างจะเป็นผู้จ่ายค่าจ้าง ควบคุมดูแล บังคับบัญชาลูกจ้างของตนตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของผู้รับจ้าง โจทก์ทั้งสามจึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย การที่ผู้รับจ้างซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสามได้จัดให้โจทก์ทั้งสามมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วัน เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยในฐานะผู้ประกอบกิจการหาจำต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามไม่ โจทก์ทั้งสามไม่อาจอ้างสิทธิหรือบังคับให้จำเลยจัดให้โจทก์ทั้งสามมีสวัสดิการเช่นเดียวกับลูกจ้างของจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างของบริษัทพลพัฒน์ บิสซิเนส จำกัด โจทก์ที่ 3 เป็นลูกจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด บี แอนด์ เค กรุ๊ป เซอร์วิส โจทก์ทั้งสาม และลูกจ้างอื่นได้ถูกนายจ้างส่งไปทำงานให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการที่ได้ว่าจ้างนายจ้างของโจทก์ทั้งสามด้วยวิธีเหมาค่าแรง ตามสัญญาบริการ เอกสารหมาย จล.1 และ จล.2 ตามลำดับ นายจ้างของโจทก์ทั้งสามมีระเบียบข้อบังคับการทำงาน ตามเอกสารหมาย จล.5 และ จล.6 ตามลำดับโดยระเบียบข้อบังคับการทำงานดังกล่าวกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 6 วันทำงาน ส่วนจำเลยมีคู่มือระเบียบข้อบังคับการทำงานสวัสดิการแก่พนักงานของจำเลย ตามเอกสารหมาย จล.4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามว่า โจทก์ทั้งสามชอบที่จะมีสิทธิได้หยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 6 วันทำงานตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของนายจ้างของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และของนายจ้างของโจทก์ที่ 3 ตามเอกสารหมาย จล.5 และ จล.6 หรือตามคู่มือระเบียบข้อบังคับการทำงานสวัสดิการพนักงานของจำเลย ตามเอกสารหมาย จล.4 ซึ่งกำหนดให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้มากกว่าโดยคำนวณตามอายุการทำงานของลูกจ้าง เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 (3) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการที่ได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรง โดยมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี หรือมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย หมายความว่า เมื่อนายจ้างผู้รับเหมาค่าแรงไปจ้างลูกจ้างให้มาทำงานให้แก่ผู้ประกอบกิจการ โดยงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการก็ถือว่าผู้ประกอบกิจการนั้นเป็นนายจ้างด้วย ซึ่งมีผลว่า หากผู้รับเหมาค่าแรงมีนิติสัมพันธ์ต่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเท่าใด ผู้ประกอบกิจการก็ต้องรับผิดต่อลูกจ้างนั้นตามสัญญาที่นายจ้างผู้รับเหมาค่าแรงทำไว้กับลูกจ้างเท่านั้น เนื่องด้วยกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับสิทธิพึงมีพึงได้ตามสัญญาจ้างแรงงานที่ผู้รับเหมาค่าแรงมีต่อลูกจ้าง แต่จะขอให้บังคับให้ผู้ประกอบกิจการรับผิดและให้ผูกพันดังเช่นลูกจ้างของผู้ประกอบกิจการที่ได้จ้างลูกจ้างนั้นโดยตรงหาได้ไม่ เพราะลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงไม่ใช่ลูกจ้างของผู้ประกอบกิจการนั้นโดยตรงตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่มาตรา 5 (3) ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการนั้นเป็นนายจ้างของลูกจ้างนั้นด้วยเท่านั้น ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามเกินกว่าที่นายจ้างของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับเหมาค่าแรงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม และเมื่อโจทก์ทั้งสามได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 6 วันทำงาน ตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างผู้รับเหมาค่าแรงแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยจัดให้โจทก์ทั้งสามได้หยุดพักผ่อนประจำปีหรือได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้มากกว่านี้อีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share