คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ส่วนที่เหลือ” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสาม จะต้องพิจารณาจากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนแปลงนั้น ๆ เป็นหลัก โดยที่ดินแปลงนั้น ๆ ไม่ได้ถูกเวนคืนทั้งหมด ส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนจึงจะถือว่าเป็นส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่ดินของโจทก์แปลงที่ไม่มีส่วนใดถูกเวนคืนเลย แม้จะปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินของโจทก์แปลงที่ถูกเวนคืนที่มีส่วนที่เหลือจากการเวนคืนก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้ที่ดินแปลงที่ไม่มีส่วนใดถูกเวนคืนเลยกลายเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามบทบัญญัติดังกล่าวไปได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินแปลงที่ไม่มีส่วนใดถูกเวนคืนเลยโดยอ้างว่าที่ดินมีราคาลดลงเนื่องจากการเวนคืน
ผู้ถูกเวนคืนที่ดินจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอย่างไร เพียงใดนั้น จะต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 บัญญัติไว้เท่านั้น แต่ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวหาได้มีบทบัญญัติให้ทางราชการจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายเนื่องจากโจทก์จะต้องซื้อที่ดินข้างเคียงเพื่อทำเป็นทางออกให้แก่ที่ดินของโจทก์สู่ถนนสาธารณะตามที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๘๑๗,๕๑๓,๒๙๒.๒๕ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปีในต้นเงินจำนวน ๗๐๘,๖๒๑,๗๕๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๖๗,๗๐๒,๒๕๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๑ วรรคสาม ได้บัญญัติไว้ว่า “ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย” คำว่า “ส่วนที่เหลือ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องพิจารณาจากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนแปลงนั้น ๆ เป็นหลัก โดยที่ดินแปลงนั้น ๆ ไม่ได้ถูกเวนคืนทั้งหมด ส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนจึงจะถือว่าเป็นส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๖๙ และ ๗๐๖๘๓ ของโจทก์ไม่มีส่วนใดถูกเวนคืนเลย แม้จะปรากฏว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ ๓๑๗๑ และ ๘๗๔๘ ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๖๙ และ ๗๐๖๘๓ กลายเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามบทบัญญัติดังกล่าวไปได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินสองแปลงนี้โดยอ้างว่าที่ดินมีราคาลดลงเนื่องจากการเวนคืน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอีกประการว่า หลังจากถูกเวนคืนแล้ว ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนไม่มีส่วนใดติดถนนรามอินทราเหมือนเดิม จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงการพัฒนาที่ดินที่วางไว้เดิมโดยหันหน้าโครงการมาทางถนนเข้าสนามกอล์ฟปัญญาซึ่งโจทก์จะต้องซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๘๗ ที่คั่นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับถนนเข้าสนามกอล์ฟปัญญามาทำเป็นทางออกที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาซื้อขายจำนวน ๘๖,๕๙๔,๕๐๐ บาท จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย เห็นว่า ผู้ถูกเวนคืนที่ดินจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอย่างไร เพียงใดนั้น จะต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ บัญญัติไว้เท่านั้น แต่ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวหาได้มีบทบัญญัติให้ทางราชการจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายจากกรณีที่โจทก์อ้างดังกล่าวข้างต้นไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ได้
พิพากษายืน.

Share