คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์กับพวกไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวกเป็นเหตุให้โจทก์กับพวกถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องหาทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงสิทธิเสรีภาพของโจทก์กับพวกโจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวก แม้จะได้ความตามทางพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีพฤติการณ์ในทางบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวนั้นได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 4 ไม่ควรต้องรับโทษและศาลต้องยกฟ้องโจทก์ตามมาตรา 185 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามมาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารจำเลยที่ 4 เป็นผู้กำกับการสถานตำรวจนครบาลสุทธิสาร เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันมอบอำนาจให้นายสมพงษ์ ตระกูลลีวัฒนา ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษโจทก์ต่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญา โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทอาคิเท็คส์ แอนด์ เทิร์นคีย์ จำกัด ได้ร่วมกับ นายสุธีพงศ์ อินทุสุต และนายไพศาล ธเนศอนุกุล กรรมการของบริษัทดังกล่าวโดยทุจริตใช้อุบายหลอกลวงฉ้อโกงจำเลยที่ 1 ให้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 83/14 อาคารรัชโยธินเพลส เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แก่นางสุภาพร ศักดานุวงศ์ เพื่อหักลบกลบหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าจ้างงานก่อสร้างต่อบริษัทอาคิเท็คส์ แอนด์ เทริ์นคีย์ จำกัด โดยนายสุธีพงศ์ และนายไพศาลจะชำระเงินอีก 150,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 เป็นค่าราคาห้องชุดส่วนที่ขาดและในวันนั้นบริษัทอาคิเท็คส์ แอนด์ เทิร์นคีย์ จำกัด ได้ส่งโทรสารสำเนาเช็คธนาคารไทยทนุจำกัด (มหาชน) สั่งจ่ายเงิน 150,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ดูจนจำเลยที่ 1 หลงเชื่อและได้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่นางสุภาพร แต่ในวันโอนฝ่ายโจทก์มิได้มอบเช็คคลั่งจ่ายเงิน 150,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์นำโฉนดอาคารชุดหลังรับโอนแล้วหลบหนีไป ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จความจริงจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าในวันโอนดังกล่าวหลังการโอนกรรมสิทธิ์เสร็จสิ้นแล้ว โจทก์แจ้งนางสาวแสงเดือน สิบต๊ะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดว่า นางสุธีพงส์จะนำเช็คสั่งจ่ายเงิน 150,000 บาทไปมอบแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังที่ทำการบริษัทจำเลยที่ 1 และรู้ว่าโจทก์ นายสุธีพงศ์และนายไพศาลมิได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงทั้งนี้เพื่อแกล้งให้โจทก์ นายสุธีพงศ์ นายไพศาลและนางสุสภาพรได้รับโทษทางอาญา และตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้นทั้งก่อนและภายหลังการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้างต้นแล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ได้ร่วมกันยุยงส่งเสริม ช่วยเหลือสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำข้อความอันเป็นเท็จข้างต้นแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษโดยให้จำเลยที่ 3 ดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวกในความผิดฐานฉ้อโกง และในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวันนั่นเอง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และละเว้นปฏิบัติหน้าที่ที่โดยมิชอบ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์และบุคคลทั้งสามข้างต้นไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์และบุคคลทั้งสามข้างต้นไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและได้ดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวก เป็นเหตุให้โจทก์กับพวกถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องหาในวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงสิทธิเสรีภาพของโจทก์และบุคคลทั้งสาม และระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวันถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันยุยงส่งเสริม ใช้จ้างวาน ช่วยเหลือสนับสนุนให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษโจทก์และบุคคลทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกง อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันควบคุมตัวโจทก์เป็นผู้ต้องหาในวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง สิทธิเสรีภาพของโจทก์และบุคคลทั้งสาม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 137, 157, 172, 173, 174
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 4 มีมูลเฉพาะความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 4 ในข้อหาดังกล่าว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 4 และประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้ว เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล หรือไม่เป็นความผิดหรือฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนี้ ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจยกฟ้องได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์เฉพาะส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์กับพวกไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวกเป็นเหตุให้โจทก์กับพวกถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องหา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงสิทธิเสรีภาพของโจทก์กับพวกเท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องเลยว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จะได้ความตามทางพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีพฤติการณ์ในทางบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวนั้นได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 4 ไม่ควรต้องรับโทษและศาลต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 มาด้วยนั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share