แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่นายทะเบียนฯ ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการฯ มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนฯ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของคณะกรรมการฯไม่ตรงด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพราะเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ถูกนายทะเบียนฯเพิกถอนแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่า การเพิกถอนเครื่องหมายการค้ายังไม่ครบ 12 เดือน นับแต่วันที่นายทะเบียนฯสั่งเพิกถอน จึงต้องถือว่าเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วยังอยู่ในระยะเวลาที่เจ้าของจะใช้สิทธิยื่นขอจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 38 ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วได้ถูกเพิกถอนแล้ว จึงไม่อาจรับฟังได้และคำฟ้องของโจทก์เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและความเห็นในเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ว่าไม่ถูกต้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างความไม่ถูกต้องสมบูรณ์ของคำวินิจฉัยดังกล่าวอาทิ ความบกพร่องของการเป็นกรรมการ ความไม่ชอบของการประชุมหรือการออกเสียงลงคะแนน เป็นต้น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 19 เบญจวรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกเป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามกฎหมาย โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า อันมีใบสลากประกอบด้วยรูปนกเพนกวิน เป็นสาระสำคัญ แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพราะเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นโจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำสั่งนี้ไม่ตรงด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กล่าวคือเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้นไม่ได้ต่ออายุการใช้แล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ได้เพิกถอนออกจากทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 37 และต่อมาเจ้าของเดิมก็ได้แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะใช้แล้ว เครื่องหมายการค้านี้จึงไม่อยู่ในทะเบียนอย่างสิ้นเชิง โจทก์ได้รับสิทธิในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันได้คำสั่งของจำเลยทั้งหกไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 393/2529 และสั่งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 156686
จำเลยทั้งหกให้การว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้วเนื่องจากเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะเพิกถอนเครื่องหมายการค้านี้ออกจากทะเบียนเพราะเจ้าของเดิมไม่ต่ออายุการใช้ แต่ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 38 ก็บัญญัติว่าถ้ามีการขอจดทะเบียนขึ้นมาภายใน 12 เดือน นับแต่วันเพิกถอนก็ให้ถือว่าเครื่องหมายนั้นยังอยู่ในทะเบียน เมื่อโจทก์มาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ภายใน12 เดือน โดยที่โจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิขอจดได้ตามมาตรา 38 ทั้งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ได้ปฏิเสธคำขอของเจ้าของเดิมที่ขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้านี้ออกจากทะเบียนเพราะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้เพิกถอนไปก่อนแล้ว ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 37 เจ้าของเดิมไม่มีสิทธิมาขอถอนอีกได้การแสดงเจตนาของเจ้าของเดิมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลของกฎหมายดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอจดได้ คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งคำสั่งของจำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็เป็นที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 19 เบญจ วรรคสามโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยหรือสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่เพียงแต่โต้แย้งความเห็นและข้อเท็จจริงอันจะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 19 เบญจ วรรคสาม และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งหกที่ยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบแล้ว และเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 19 เบญจวรรคท้าย พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายชอร์ ยิงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาท แต่นายชอร์ ยิง ไม่ขอต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท นายทะเบียนจึงสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าพิพาทออกจากทะเบียนเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2529วันที่ 30 มิถุนายน 2529 โจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท วันที่ 21 กรกฎาคม 2529 นายชอร์ ยิง ได้โอนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้บุคคลอื่น และผู้รับโอนได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท แต่นายทะเบียนปฏิเสธไม่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ผู้รับโอน ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2529นายทะเบียนปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้โจทก์วันที่ 11 กันยายน 2529 นายชอร์ ยิง ได้ขอถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท แต่นายทะเบียนได้แจ้งว่า เครื่องหมายการค้าพิพาทได้ถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 37แล้ว หากประสงค์จะสละสิทธิตามมาตรา 38 ก็ให้ทำหนังสือแจ้งมาใหม่แต่ไม่มีหนังสือนายชอร์ ยิง แจ้งสละสิทธิดังกล่าว วันที่ 18ธันวาคม 2529 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า วันที่ 3 ตุลาคม 2529นายชอร์ ยิง ได้ขอถอนหนังสือที่ขอถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท และกลับขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทใหม่ เมื่อวันที่5 มกราคม 2530 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายทะเบียน
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถูกต้องหรือไม่ ในปัญหาข้อแรกว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้เพราะเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งได้แก่จำเลยทั้งหกนี้ จำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ฟ้องโดยอ้างในคำฟ้องว่าคำสั่งดังกล่าวของจำเลยทั้งหกไม่ตรงด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าพิพาทนั้นได้ถูกนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพิกถอนแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ ซึ่งตามคำสั่งของจำเลยทั้งหกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ปรากฏว่าจำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่า การเพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 92971 ยังไม่ครบ 12 เดือน นับแต่วันที่นายทะเบียนสั่งเพิกถอน จึงต้องถือว่าเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วยังอยู่ในระยะเวลาที่เจ้าของจะใช้สิทธิยื่นขอจดทะเบียนได้ตามมาตรา 38 ฉะนั้นข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วได้ถูกเพิกถอนแล้วจึงไม่อาจรับฟังได้ เช่นนี้จะเห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและความเห็นในเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้นเองไม่ถูกต้องชอบธรรม โจทก์มิได้กล่าวอ้างความไม่ถูกต้องสมบูรณ์ของคำวินิจฉัยดังกล่าว อาทิ ความบกพร่องของการเป็นกรรมการ ความไม่ชอบของการประชุมหรือการออกเสียงลง คะแนนเป็นต้น เมื่อคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งหกเป็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงย่อมถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า มาตรา 19 เบญจ วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นต่อไป
พิพากษายืน.