คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1963/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์แทน พ. โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาตามระเบียบของจำเลย เป็นเรื่องที่โจทก์สมัครใจทำเองโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลย ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่าข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏแจ้งชัดพอให้วินิจฉัยได้ว่าจำเลยได้มีระเบียบปฏิบัติอย่างไร และในทาง ที่ปฏิบัติกันมาจำเลยก็ผ่อนปรนให้ทำงานแทนกันได้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๔ โจทก์ได้ทำงานล่วงเวลาให้จำเลย โดยโจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ๗๓ บาท แต่จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์เพียง ๔๘ บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาที่ขาด ๒๕ บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ทำงานล่วงเวลาให้จำเลย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานในวันหยุดแทนนางสาวเพียงใจ บานเย็น โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่าโจทก์สมัครใจทำเอง จำเลยมิได้สั่งให้โจทก์ทำงานในวันหยุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีคำสั่งให้นางสาวเพียงใจ บานเย็น ทำงานระหว่างเวลา ๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ นาฬิกาของวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๒๔ อันเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ และจำเลยมีระเบียบว่า ถ้ามีการอยู่เวรหรือทำงานในวันหยุดแทนกัน จะต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาเป็นหนังสือและจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน แต่โจทก์ทำงานแทนนางสาวเพียงใจโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่าโจทก์สมัครใจทำเองไม่มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลย ดังนั้นที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏชัดพอให้วินิจฉัยได้ว่าจำเลยได้มีระเบียบปฏิบัติอย่างไรเกี่ยวกับการให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดแทนกัน แต่ในการปฏิบัติที่ได้ปฏิบัติกันมาหากพนักงานคนใดประสงค์จะทำงานแทนบุคคลอื่นก็ย่อมทำได้ โดยจำเลยใช้หลักการยืดหยุ่นผ่อนปรน ถือว่าจำเลยยอมรับการทำงานแทนกันของโจทก์ชอบที่โจทก์จะได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามสิทธิที่โจทก์พึงได้รับนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมา จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์

Share