แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่อำเภอท้องที่ที่ผู้แจ้งขึ้นทะเบียนทหารและจำเลยที่แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าทางราชการอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นแห่งเดียวกันและรับรู้เรื่องอยู่โดยตลอดแล้ว ก็ชอบที่จะดำเนินการแก้หนังสือสำคัญประจำตัวกับบัญชีหรือทะเบียนทหารได้เองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ผู้นั้นไปย้อนแจ้งการเปลี่ยนชื่ออีก ย่อมถือได้เสมือนหนึ่งว่าผู้นั้นได้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อไปแจ้งแก่นายอำเภอท้องที่ทราบอยู่ในตัวแล้ว ผู้นั้นจึงหาควรมีผิดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ขึ้นทะเบียนกองเกินในนามนายปักต้อย ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองยะลาแล้วยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อเป็น”สมศักดิ์” และ ได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยไม่แจ้งการเปลี่ยนชื่อต่อนายอำเภอเพื่อแก้หนังสือสำคัญประจำตัวกับบัญชีทหารเรือใบทะเบียนทหารให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2495 มาตรา 12 จำเลยรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นว่านายอำเภอเมืองยะลาเป็นผู้รับคำขอและแจ้งว่านายอำเภอว่าอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อได้ถือได้ว่า นายอำเภอได้ทราบการเปลี่ยนชื่อเป็นหลักฐานการเปลี่ยนชื่ออยู่แล้ว ไม่จำต้องแจ้งซ้ำแก่นายอำเภอคนเดียวกันเอาผิดจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2495มาตรา 12 วรรคสุดท้ายว่า “อนึ่งบุคคลดังกล่าวแล้ว (บุคคลที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินทหารกองหนุน) ในมาตรานี้ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัวก็ให้ผู้นั้นนำหลักฐานไปแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ทราบภายในกำหนด 30 วันนับตั้งแต่วันได้รับอนุญาต ให้นายอำเภอออกใบรับให้ และแจ้งหนังสือสำคัญประจำตัวกับบัญชีหรือทะเบียนทหารให้ถูกต้อง
แต่เรื่องนี้อำเภอท้องที่ที่จำเลยขึ้นทะเบียนทหารก็ดี อำเภอที่แจ้งให้จำเลยทราบว่าทางราชการอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อก็ดี มิได้ต่างแห่งแต่เป็นแห่งเดียวกันรับรู้เรื่องอยู่โดยตลอด ถ้าจะให้จำเลยต้องแจ้งแก่ผู้ตอบอนุญาตว่าได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อแล้วก็ดูจะเสียเวลาแก่เขาโดยใช่เหตุอำเภอท้องที่ควรหรือชอบที่จะดำเนินแก้หนังสือสำคัญหรือใบสำคัญประบัญชีหรือทะเบียนทหารได้เองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องให้เขาไปย้อนแจ้ง เพราะอำเภอท้องที่ทราบและเป็นเจ้าของเรื่องโดยตลอดแล้ว ถือได้เสมือนหนึ่งว่าจำเลยได้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อไปแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ทราบอยู่ในตัวแล้ว จึงเห็นพ้องกับศาลทั้งสองที่วินิจฉัยต้องกันมาว่าจำเลยไม่ควรมีผิดตามข้อหา
จึงพิพากษายืน