คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 196/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยพูดขอเงินจากโจทก์ร่วมจำนวน 600,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกันตัวบุตรของโจทก์ร่วมและจำเลยจะหาทนายความให้โจทก์ร่วมต่อรองจำนวนเงินลงเหลือ 400,000 บาท จำเลยตกลง ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้เพียงว่าโจทก์ร่วมให้เงินจำเลยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของจำเลยในการที่จะหาทนายความให้บุตรของโจทก์ร่วม และเป็นค่าใช้จ่ายในการขอปล่อยชั่วคราวบุตรของโจทก์ร่วมเท่านั้น ยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าโจทก์ร่วมให้เงินจำเลยนำเงินไปให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยจะนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานอันเป็นการใช้ให้จำเลยกระทำผิด โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ความผิดอันยอมความกันได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ถึงต้นเดือนเมษายน 2533 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยได้ฉ้อโกงนางบุญมี สามารถยุทธ ผู้เสียหาย โดยหลอกลวงว่า จำเลยสามารถติดต่อให้ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวนายสมชาย สามารถยุทธ บุตรผู้เสียหายให้ออกมาจากเรือนจำได้ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องรวมทั้งไม่สามารถและไม่มีเจตนาที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและมอบเงินจำนวน300,000 บาท ให้แก่จำเลยไป เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวังเขตพระนคร และแขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341และสั่งให้จำเลยคืนเงินจำนวน 300,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา นางบุญมี สามารถยุทธ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 300,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมเบิกความว่า จำเลยพูดขอเงินจากโจทก์ร่วมจำนวน 600,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกันตัวบุตรของโจทก์ร่วมและจำเลยจะหาทนายความให้ โจทก์ร่วมต่อรองจำนวนเงินลงเหลือ 400,000 บาท จำเลยตกลง คำเบิกความของโจทก์ร่วมดังกล่าวฟังได้เพียงว่า โจทก์ร่วมให้เงินจำเลยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของจำเลยในการที่จะหาทนายความให้บุตรของโจทก์ร่วม และเป็นค่าใช้จ่ายในการขอปล่อยชั่วคราวบุตรโจทก์ร่วมในระหว่างอุทธรณ์ ยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าโจทก์ร่วมให้เงินจำเลยไปเพื่อให้จำเลยนำเงินไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริตตามพฤติการณ์น่าจะเป็นว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมเพื่อต้องการได้เงินจากโจทก์ร่วมเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยจะนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานอันเป็นการใช้ให้จำเลยกระทำผิด โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
การที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่เกินวันที่ 15 มีนาคม 2533 แต่ไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 27มิถุนายน 2533 ซึ่งเกินกำหนดสามเดือนจึงขาดอายุความ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อกฎหมายข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาเพราะศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่จำเลยได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาตั้งแต่ในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ทั้งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน

Share