คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 196/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จและส่งให้ศาลชั้นต้นเพื่ออ่านให้คู่ความฟัง ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์และจำเลยที่ 1ฟังแล้ว และได้ส่งคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไปยังศาลอีกแห่งหนึ่งเพื่ออ่านให้จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำท้องที่ศาลนั้นฟัง แต่เมื่อปรากฎว่า จำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายก่อนวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังศาลที่จำเลยที่ 2 ถูกคุมขังอยู่ในท้องที่ได้ส่งคำพิพากษาศาลฎีกาคืนศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นส่งคำพิพากษา ศาลฎีกาและสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ดังนี้ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาเดิมโดยทำเป็นคำพิพากษาใหม่ สั่งแก้ไขปรับปรุงคำพิพากษาเดิมได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 334, 335 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335(1)(7)(8) วรรคสามจำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จแล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟัง แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถูกส่งตัวไปคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ศาลชั้นต้นจึงได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ฟังไปก่อนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2535 แล้วส่งคำพิพากษาศาลฎีกาไปให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่เพื่ออ่านให้จำเลยที่ 2ฟัง ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2535 แล้ว ศาลชั้นต้นจึงส่งคำพิพากษาศาลฎีกาและสำนวนคืนมายังศาลฎีกาเพื่อทำคำพิพากษาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ใหม่
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2ถึงแก่ความตายไปก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงต้องปรับปรุงแก้ไขคำพิพากษาดังกล่าวเสียใหม่ให้ตรงกับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงมีคำสั่งแก้ไขปรับปรุงคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ใหม่ โดยตัดข้อความหน้า 2ตั้งแต่ย่อหน้าที่ 2 จนสุดคำพิพากษา ศาลฎีกาเดิมออกทั้งหมดและใช้ข้อความใหม่ต่อไปนี้แทน
“ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) จึงให้จำหน่ายคดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความศาลฎีกา
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่
ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า บ้านผู้เสียหายเป็นเรือนไม้…ฯลฯ…ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายรายนี้ พยานฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 1ไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างน้ำหนักคำพยานโจทก์ได้
พิพากษายืน”

Share