แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534มาตรา 18 วรรคแรกที่บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (2) พิจารณาคำร้องทุกข์ของพนักงานหรือของสมาคมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับของ รัฐวิสาหกิจนั้น ฯลฯ” ส่วนในวรรคสี่และวรรคหก บัญญัติไว้เป็นใจความว่า ผู้ร้องหรือสมาคมซึ่งไม่พอใจผลการพิจารณาคำร้องทุกข์ดังกล่าวของคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบผลการพิจารณา คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด เห็นได้ว่าคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาในการนี้ก็ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์เท่านั้นไม่ได้หมายความว่าถ้าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์แล้ว โจทก์จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลไม่ได้เพราะบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บังคับให้จำต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ไม่ จึงมิใช่กรณีที่มีบทบัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่มีบทบัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ก่อนที่จะนำคดี มาสู่ศาล ตามนัยมาตรา 8 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522เมื่อคดีนี้สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 5
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 จำเลยมีคำสั่งที่ 591/2534ลงโทษทางวินัยลดขึ้นเงินเดือนโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2ตัดเงินเดือนโจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 5 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 591/2534 ที่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งห้า บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,685 บาท และ 1,798.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ ชำระเงินจำนวน 676 บาท526 บาท และ 340.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3ถึงโจทก์ที่ 5 ตามลำดับ จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 อัตราขั้นที่ 18.5อัตราเงินเดือน 9,600 บาท โจทก์ที่ 2 อัตราขั้นที่ 7 อัตราวันละ193.31 บาท โจทก์ที่ 3 อัตราขั้นที่ 17 อัตราเงินเดือน 8,340 บาทโจทก์ที่ 4 อัตราขั้นที่ 13 อัตราเงินเดือน 6,840 บาทและโจทก์ที่ 5 อัตราขั้นที่ 5.5 อัตราเงินเดือน 4,675 บาทนับแต่เดือนตุลาคม 2535 เป็นต้นไป
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งห้าไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานกลาง เนื่องจากโจทก์ทั้งห้าต้องนำเรื่องเข้าร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์เสียก่อน เมื่อถึงที่สุดแล้วจึงมีสิทธินำเรื่องมาฟ้องศาลได้ และให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามฟ้องอ้างว่าจำเลยลงโทษโจทก์ทั้งห้าโดยลดขั้นเงินเดือนและตัดเงินเดือน เป็นผลให้โจทก์ทั้งห้าได้รับเงินเดือนขาดไปและไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ การที่โจทก์ทั้งห้านำคดีมาฟ้องโดยมิได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เป็นกรณีที่มิได้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 จำเลยมีคำสั่งที่ 591/2534ลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ทั้งห้าด้วยการลดขั้นเงินเดือนโจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2 ตัดเงินเดือนโจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 5 โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งห้ากับพวกในนามสมาคมได้จัดทำแถลงการณ์คัดค้านการแยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วยการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลย โจทก์ทั้งห้าจึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยดังกล่าวโดยมิได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้ามีว่า โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่าเมื่อจำเลยมีคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ทั้งห้าดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งห้าจะต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 18(2)แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534ก่อนที่จะนำคดีมาสู่ศาลหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าววรรคแรกบัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (2) พิจารณาคำร้องทุกข์ของพนักงานหรือของสมาคมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับของรัฐวิสาหกิจนั้น ฯลฯ” ส่วนในวรรคสี่และวรรคหกบัญญัติไว้เป็นใจความว่า ผู้ร้องหรือสมาคมซึ่งไม่พอใจผลการพิจารณาคำร้องทุกข์ดังกล่าวของคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบผลการพิจารณาคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาในการนี้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า ถ้าโจทก์ทั้งห้าไม่ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์แล้ว โจทก์ทั้งห้าจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลไม่ได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บังคับให้จำต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ไม่ จึงมิใช่กรณีที่มีบทบัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ก่อนที่จะนำคดีมาสู่ศาลตามนัยมาตรา 8 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 แต่อย่างใด เมื่อคดีนี้สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ทั้งห้าจะเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามความหมายในมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ดังที่โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี