คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจตนาเป็นองค์ประกอบภายในของความผิดอาญาที่จะแสดงว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ อันเป็นมูลฟ้องในข้อหาบุกรุกลักทรัพย์ของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจยกเจตนาของจำเลยขึ้นวินิจฉัยได้ไม่ว่ากระบวนพิจารณา อยู่ในชั้นใด และจำเลยจะได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้วหรือไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาในข้อแรกว่า อุทธรณ์ของโจทก์ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตด้วยหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายทั้งปวงที่คู่ความยกขึ้นอุทธรณ์ต้องแสดงไว้โดยแจ้งชัดในอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 และมาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ที่แก้ไขใหม่ ตามอุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีข้อความตอนใดโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีเจตนาทุจริต คงมีข้อความอยู่ตอนหนึ่งว่า เมื่อโจทก์อ้างและนำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองนาพิพาทและเป็นเจ้าของข้าวรายพิพาท คดีของโจทก์จึงมีมูลที่ศาลชอบจะประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป เพียงเท่านี้ยังไม่เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับเจตนากระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใด ลำพังแต่คำว่าคดีของโจทก์จึงมีมูลนั้นมิได้หมายความว่าโจทก์โต้แย้งคัดค้านว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตอยู่ในตัวดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้จึงชอบแล้ว

ในปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้จำเลยจะยังมิได้ยกเจตนาขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เจตนาก็เป็นองค์ประกอบภายในของความผิดอาญาที่จะแสดงว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่อันเป็นมูลฟ้องของโจทก์ ดังนั้นศาลย่อมมีอำนาจยกเจตนาของจำเลยขึ้นวินิจฉัยได้ไม่ว่ากระบวนพิจารณาอยู่ในชั้นใดและจำเลยจะได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้วหรือไม่

พิพากษายืน

Share