คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1957/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้างฯเป็น ระเบียบของคณะรัฐมนตรีให้ใช้แก่ลูกจ้างทั่วไปแต่ก็ มิได้หมายความว่ารัฐวิสาหกิจจะมีระเบียบเรื่องนี้ของตนเองโดยเฉพาะไม่ได้แม้เดิมจำเลยจะใช้ระเบียบดังกล่าวซึ่งการจ่ายเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้มีค่าชดเชยรวมอยู่ ด้วยก็ตามแต่เมื่อขณะโจทก์ออกจากงานจำเลยได้ออก ข้อบังคับองค์การจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จมาใช้บังคับถือได้ว่าจำเลยมิได้นำระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จฯมาใช้ บังคับอีกต่อไปทั้งข้อบังคับของจำเลยก็มิได้มีข้อความดังระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จฯและหลักเกณฑ์การ จ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยก็แตกต่างกับหลักเกณฑ์ การจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานจึงถือไม่ได้ว่าบำเหน็จที่จำเลย จ่ายให้โจทก์มีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ วันที่ 1 ตุลาคม 2526จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยตอบปฏิเสธแรงงานจังหวัด คือ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2526 จนถึงวันที่ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุด

จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ จำเลยได้จ่ายเงินแก่โจทก์โดยแยกเป็นค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ ทั้งนี้ตามคำสั่งองค์การจำเลย เรื่อง การจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญ ลงวันที่ 27 มกราคม2503 ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 ข้อ 4, 5ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2502 การที่โจทก์ต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุเป็นการออกตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ และถือได้ว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจกายน 2526 จนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 และถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน

ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2503 เป็นระเบียบของคณะรัฐมนตรีซึ่งให้ใช้แก่ลูกจ้างทั่วไป แต่ก็มิได้ความหมายว่ารัฐวิสาหกิจจะมีระเบียบดังกล่าวของตนเองโดยเฉพาะไม่ได้ การที่จำเลยได้มีคำสั่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ 7/2503 เรื่อง การจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญให้นำระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จฯ มาใช้บังคับโดยอนุโลมเป็นการว่าขณะที่จำเลยยังไม่มีระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จฯ ของจำเลยโดยเฉพาะก็ให้นำเอาระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญพ.ศ. 2502 มาใช้บังคับไปก่อน ซึ่งระเบียบดังกล่าวนี้ในข้อ 5 วรรคสุดท้ายมีข้อความว่า “ในกรณีที่ลูกจ้างประจำผู้ใดมีสิทธิได้รับทั้งเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดของลูกจ้างการใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้าง และการจัดให้มีสวัสดิการเพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ แต่ถ้าเงินชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่พึงจะได้รับตามระเบียบนี้เท่าใด ก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับส่วนที่ต่ำกว่านั้น” ถ้าการจ่ายเงินของจำเลยเป็นไปตามระเบียบดังกล่าวย่อมถือว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ด้วย แต่ปรากฏว่าต่อมาในปี พ.ศ. 2521 จำเลยได้ออกข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฯ ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จฯ มาใช้บังคับเท่ากับจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยโดยเฉพาะแล้วและถือได้ว่ามิได้นำระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้างพ.ศ. 2502 ซึ่งเป็นระเบียบการจ่ายเงินประเภทเดียวกันมาใช้บังคับอีกต่อไปตามข้อบังคับจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จฯ นี้มิได้มีข้อความดังระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จฯ ข้อ 5 ไว้เลยในขณะโจทก์เกษียณอายุเป็นระยะเวลาที่ใช้บังคับของจำเลย จึงต้องถือว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการจ่ายตามข้อบังคับนี้และเงินบำเหน็จเท่านั้น นอกจากนี้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยเป็นแตกต่างกับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจึงถือไม่ได้ว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วย

พิพากษายืน

Share