คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หัวหน้าแผนกประกันภัยและสอบสวนขององค์การโจทก์ได้ทำหนังสือตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในระเบียบของโจทก์ ซึ่งออกตามความในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์(ร.ส.พ.) พ.ศ. 2496 มาตรา 21,22 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ในทันทีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นอันมีผลเท่ากับเป็นการปฎิบัติงานตามหน้าที่ของผู้อำนวยการของโจทก์และแทนผู้อำนวยการของโจทก์ ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2523 ถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วอย่างช้าตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2523 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 9 สิงหาคม 2525 จึงเกินกว่า 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก จำเลยที่ 1 กระทำความผิดทางอาญา ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43,157 ซึ่งเป็นคดีลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 102 อายุความทางอาญามีกำหนด 1 ปี เท่ากับคดีละเมิดต้องบังคับตามอายุความทางแพ่งซึ่งมีกำหนด 1 ปี ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความเช่นกัน เมื่อคดีได้ความว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด เนื่องจากฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องแล้ว จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันเกิดการละเมิด จำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ หากโจทก์ไม่สืบหรือสืบไม่ได้ก็ต้องถือว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลมีนายสุรศักดิ์ ฉวีวงศ์เป็นผู้อำนวยการมีอำนาจดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้แทนและหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 4 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 และที่ 4 มีส่วนได้เสียและผลประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับและร่วมกันเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 ได้แสดงตนเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2โดยเข้าทำกิจการของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 6 เป็นบริษัทจำกัดผู้รับประกันวินาศภัยและประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1ขับ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2523 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เพิ่งรู้การละเมิดและตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม2525 ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 358,461.70บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธหลายประการรวมทั้งต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นนี้มีว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ค่าเสียหายของโจทก์มีจำนวนเท่าใดและจำเลยทั้งหกจะต้องรับผิดเพียงใดหรือไม่
ปัญหาเรื่องอายุความ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจากจำเลยทั้งหกเมื่อพ้นปีหนึ่งโดยอ้างว่าเพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และจำเลยทั้งหกให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ภาระการพิสูจน์จึงตกโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าคดีของตนไม่ขาดอายุความ หากไม่สืบหรือสืบไม่ได้ก็ต้องถือว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วโจทก์มีนายสมนึก ทวิชาโรดม ปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่าเมื่อระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2525 พยานไปตรวจพบว่าไม่มีใครรายงานเรื่องนี้ให้ผู้อำนวยการทราบ พยานจึงรายงานให้ผู้อำนวยการทราบเรื่องทั้งหมดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2525 ซึ่งนายสุรศักดิ์ ฉวีวงศ์ ผู้อำนวยการในขณะนั้นได้สั่งฟ้องเมื่อเดือนพฤษภาคม 2525 นั้นเอง โจทก์ไม่มีพยานหรือเอกสารอื่นมาสนับสนุนอีก ทั้ง ๆ ที่ควรจะมี เช่นรายงานการเกิดเหตุและการติดตามเรื่อง ตลอดจนรายงานของนายสมนึกและคำสั่งที่นายสุรศักดิ์ให้ฟ้อง เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นคำเบิกความของนายสมนึกยังขัดกับคำเบิกความของนายสุรศักดิ์ที่ว่าตนมารับตำแหน่งผู้อำนวยการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2525 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่นายสมนึกอ้างว่านายสุรศักดิ์สั่งฟ้อง นับเป็นพิรุธ พยานโจทก์ที่นำสืบเรื่องอายุความ จึงไม่มีน้ำหนัก นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังฟังได้จากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลมีผู้อำนวยการเป็นผู้จัดการและดำเนินการของโจทก์ ทั้งเป็นตัวแทนโจทก์ในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆปฏิบัติกิจการบางอย่างแทน ในเมื่อคณะกรรมการกำหนดไว้ในข้อบังคับว่าให้ปฏิบัติแทนกันได้นั้นก็ได้ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) พ.ศ. 2496 มาตรา 21 และมาตรา 22 ซึ่งผู้อำนวยการโจทก์ได้ออกระเบียบองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับยานพาหนะหรือล้อเลื่อน พ.ศ. 2519 ไว้ด้วยแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.5ตามระเบียบดังกล่าวเป็นการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ทันทีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นนับแต่ผู้ขับขี่ผู้ควบคุมยานพาหนะ เจ้าหน้าที่ประกันภัยและสอบสวนรวมทั้งกองกฎหมาย ที่จะต้องสืบสวนสอบสวนประเมินราคาค่าเสียหายหาผู้รับผิดตลอดจนกำหนดตัวกรรมการให้เสร็จ เฉพาะกรณีที่บุคคลภายนอกต้องรับผิดในบรรดาค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทน ก็ได้กำหนดไว้ในข้อ 15 ให้พนักงานประกันภัยและสอบสวนเจ้าของเรื่องผู้จัดการ ร.ส.พ.เขต หรือผู้จัดการ ร.ส.พ. สาขา หรือหัวหน้าแผนกผู้รับผิดชอบในเขตท้องที่ยานพาหนะหรือล้อเลื่อนเกิดอุบัติเหตุแล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้รับเงินค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนนำส่ง ร.ส.พ. ภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันรับเงินแสดงว่าผู้อำนวยการโจทก์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำการแทนในกรณีต่าง ๆเป็นการแน่ชัดไว้แล้ว ใช้ถือปฏิบัติ ได้ทั่วประเทศดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ทำการแทนนั้น ๆ จึงมีผลเท่ากับเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของผู้อำนวยการเอง คดีนี้ปรากฏว่านายยงยุทธ เขียวต่าย หัวหน้าแผนกประกันภัยและสอบสวนของโจทก์ในขณะเกิดเหตุยืนยันว่าเป็นผู้ทำหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1ที่ 6 และที่ 4 ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1,ล.3 และ ล.4 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2523 สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 5 แม้จะไม่มีหลักฐานการทวงถามเป็นหนังสือจากโจทก์แต่นายทวี พลบุญมี เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับอุบัติเหตุรายนี้ของโจทก์ยืนยันว่าได้แจ้งความเสียหายของโจทก์ให้จำเลยทราบและมีหนังสือให้จำเลยชำระแก่โจทก์แล้ว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ทราบมาก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จะต้องร่วมรับผิดในมูลละเมิดนี้ด้วย ประกอบกับการทวงถามดังกล่าวเป็นการทวงถามของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของโจทก์ ทำไปในนามของโจทก์ทำถึงบุคคลภายนอก ทั้งนายสุรศักดิ์ ยังยืนยันด้วยว่า เมื่อมีการชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามหนี้เป็นอันระงับ แสดงว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำแทนผู้อำนวยการโจทก์จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว อย่างช้าก็ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2523 ซึ่งเป็นวันทวงถาม เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 9 สิงหาคม 2525 จึงเกินกว่า 1 ปี คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรก ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดทางอาญาด้วย จึงต้องดูว่าอายุความทางอาญายาวกว่าทางแพ่งคือละเมิดนี้หรือไม่ปรากฏจากรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.4 ว่าพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 ในความผิดทางอาญาเพียง 400 บาท ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157จึงเป็นคดีลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 102 และมีอายุความ1 ปีเท่ากับคดีละเมิด ต้องบังคับตามอายุความทางแพ่งคือ 1 ปีอายุความฟ้องคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงขาดแล้วเช่นกันส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 6 นั้น โจทก์ในฐานะบุคคลภายนอกฟ้องให้จำเลยที่ 6 รับผิดแทนผู้เอาประกันภัยซึ่งจำเลยที่ 6 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมาทำละเมิดไว้แต่เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดเนื่องจากฟ้องโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองนี้แล้ว จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงปัญหาข้ออื่นอีกต่อไปที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share