แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยฎีกาว่า เช็คพิพาทคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรียกให้จำเลยชดใช้เงิน ในที่สุดโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรียกให้ชดใช้เงิน โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้จำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทคดีนี้ได้อีก หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อใช้เงินนั้นเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เงิน พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย หากมีการกระทำที่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายกรณีใดกรณีหนึ่งแล้วย่อมทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปทันที ไม่ใช่เรื่องที่คู่สัญญาจะทำสัญญาหรือตกลงกันยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายมิให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับได้
แม้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ จะมีข้อความว่า การตกลงประนีประนอมยอมความนี้ โจทก์และจำเลยไม่ถือว่าได้ตกลงยอมความในคดีอาญาหากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญานี้โจทก์ยังคงประสงค์ที่จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยจนถึงที่สุดนั้น หากจะฟังว่าไม่เป็นการยอมความในคดีอาญา ก็เป็นคนละเรื่องกับกรณีหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพัน ซึ่งมีผลให้คดีเลิกกันและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปอีกกรณีหนึ่งที่มิใช่กรณีตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (2)
โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า การตกลงประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการยอมความในคดีอาญา อันเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาหรือข้อตกลงกันไม่ให้สิทธิในการฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับเช็คพิพาทคดีนี้เป็นอันระงับไป ถือว่ามีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 แต่ข้อตกลงในส่วนดังกล่าวนี้สามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมในส่วนอื่นได้ จึงไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งตกเป็นโมฆะทั้งหมด ตาม ป.พ.พ.มาตรา 173