คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1949/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้แทนโจทก์ในคดียื่นสำเนาหนังสือมอบอำนาจต่อศาลในขณะยื่นฟ้อง และในวันนัดพิจารณา โจทก์ส่งหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต่อศาล ซึ่งจำเลยได้แถลงรับว่าถูกต้องเป็นความจริง และรับว่าผู้รับมอบได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และมีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจช่วงได้จริง ดังนี้ เป็นการปฏิบัติชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
การแปลงหนี้ใหม่ย่อมทำให้หนี้เดิมระงับสิ้นไป ส่วนประกันของหนี้เดิมอันเป็นอุปกรณ์ของหนี้เช่นจำนอง ถ้าคู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่มิได้ตกลงเป็นอย่างอื่น ก็ย่อมระงับไปด้วยเช่นเดียวกัน
มาตรา 352 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้ใช้บังคับเฉพาะกรณีแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เท่านั้น การโอนสิทธิจำนองของจำเลยเป็นประกันหนี้ที่แปลงใหม่ จึงทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่ก็ใช้ได้ โดยไม่จำต้องจดทะเบียนจำนองซ้ำอีกอย่างจำนองธรรมดาที่เป็นหลักทั่วไป
หนี้เดิมเป็นหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือบัญชีเดินสะพัดซึ่งคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ เมื่อหนี้เดิมระงับไปเพราะการแปลงหนี้ใหม่ การคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนก็ต้องระงับไปตั้งแต่วันทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายจำรัส จตุภัทร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้แต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจช่วงได้ด้วยได้ทำหนังสือมอบอำนาจช่วงให้นายขาว หงษ์ทอง มีอำนาจดำเนินคดีฟ้องร้องได้ เดิมจำเลยจำนองที่ดินตามโฉนดตราจองที่ 940 พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของนายอรรณพ กฤตยาเกียรณ์ เป็นเงินไม่เกิน 150,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีทบต้นตามประเพณีของธนาคาร ถ้าบังคับจำนองได้เงินไม่พอ จำเลยยอมชดใช้เงินที่ขาดจนครบ นายอรรณพค้างชำระหนี้เพียงวันที่ 30 มิถุนายน 2510 เป็นเงิน 234,186.06 บาท วันที่ 15 กรกฎาคม 2510 จำเลยจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ชำระหนี้แทนนายอรรณพ ให้แก่โจทก์ต่อไปจนสิ้นเชิง โดยจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีโดยวิธีทบต้นเป็นรายเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญารับสภาพหนี้ โดยผ่อนชำระเป็นรายปีภายในเดือนธันวาคมของทุกปี ปีละไม่น้อยกว่า 50,000 บาท และจำเลยยินยอมรับว่าที่จำเลยได้จำนองที่ดินดังกล่าวให้มีผลผูกพันหนังสือรับสภาพหนี้นี้ด้วย ถ้าผิดนัดยินยอมให้ฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยผู้เดียว จำเลยได้ชำระหนี้ตามที่รับสภาพหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2511 เป็นเงิน 50,000 บาท และชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2512 เป็นเงิน 89.00 บาทแล้วไม่ชำระอีก โจทก์ทวงถามแจ้งการบังคับจำนองแล้ว จึงขอให้จำเลยชำระหนี้ไถ่จำนอง 280,807.52 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีทบต้นนับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จ ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด และถ้ายังไม่ชำระหนี้ ขอให้ยึดทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดชำระหนี้

จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ส่งต่อศาล จำเลยแถลงรับว่า นายจำรัส จตุรภัตร ได้รับมอบอำนาจจากธนาคารโจทก์จริง หนังสือมอบอำนาจช่วงถูกต้อง และนายจำรัสมีอำนาจช่วงให้นายขาว หงษ์ทอง ได้จริง แต่โต้แย้งว่าโจทก์เพียงแต่ส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงต่อศาลไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง คงต่อสู้ข้อกฎหมายตามคำให้การของจำเลย คดีจึงมีประเด็นว่า 1. โจทก์เพียงแต่ส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจในวันยื่นฟ้อง จะชอบด้วยวิธีพิจารณาและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ 2. สัญญาจำนองมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่คู่ความไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ประเด็นข้อ 1 โจทก์มีอำนาจฟ้อง ประเด็นข้อ 2 หนังสือรับสภาพหนี้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ โดยจำเลยเป็นลูกหนี้ตามจำนวนที่นายอรรณพค้างต่อโจทก์ และจำเลยต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองตามที่จำเลยรับรองไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งสัญญาจำนองยังมีผลใช้บังคับได้ พิพากษาให้จำเลยไถ่จำนองเป็นเงิน 280,807.52 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีทบต้นเป็นรายเดือนจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ

จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองประเด็น

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง สัญญารับสภาพหนี้ของจำเลยเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำนองเดิมที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้เป็นประกันหนี้ใหม่ก็มีผลใช้บังคับได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนกันใหม่ แต่ใช้ประกันหนี้เพียงเท่าที่เป็นวัตถุแห่งหนี้เดิมเท่านั้น คือ 150,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ทบต้น โจทก์มีสิทธิคิดได้จนถึงวันจำเลยผิดนัด หลังจากนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 และศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2512 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วไม่ชำระ พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระหนี้โจทก์ 244,878.42 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีทบต้นเป็นรายเดือนตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2512 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2512 หลังจากนั้นเสียดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยชำระหนี้ 150,000 บาทแล้ว ให้ถือเป็นการไถ่จำนองถ้าจำเลยไม่ไถ่ให้เอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้จำนองจนครบ

จำเลยฎีกาทั้งสองประเด็น

ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาประเด็นแรกว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่มีบทใดบังคับว่า การที่โจทก์มอบอำนาจให้ผู้ใดเป็นผู้แทนโจทก์ในคดีจะยื่นสำเนาหนังสือมอบอำนาจต่อศาลในขณะยื่นฟ้องไม่ได้ และจะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ดังจำเลยฎีกา และในวันนัดพิจารณา โจทก์ได้ส่งหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต่อศาล (จ.2) ซึ่งจำเลยได้แถลงรับว่าถูกต้องเป็นความจริง และรับว่านายจำรัสได้รับมอบอำนาจจากโจทก์จริง และมีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจช่วงให้นายขาวได้จริง ซึ่งเป็นการปฏิบัติชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 ประกอบมาตรา 66แล้ว โจทก์โดยนายขาว หงษ์ทอง ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

สำหรับประเด็นที่สอง ศาลฎีกาเห็นว่าโดยปกติของการแปลงหนี้ใหม่ย่อมทำให้หนี้เดิมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 349 ส่วนประกันของหนี้เดิมอันเป็นอุปกรณ์ของหนี้เช่นจำนองอย่างคดีนี้ ถ้าคู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่มิได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นก็ย่อมระงับไปด้วยเช่นเดียวกัน ตามผลของมาตรา 349 โดยไม่จำต้องอาศัยมาตรา 744 แต่ถ้าคู่กรณีตกลงกันไว้ในเรื่องประกันของหนี้เดิม จะต้องบังคับตามมาตรา 352 โดยตรงซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยเฉพาะในกรณีแปลงหนี้ใหม่ว่า”คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่อาจโอนสิทธิจำนำหรือจำนองที่ได้ให้ไว้เป็นประกันหนี้เดิมนั้น ไปเป็นประกันหนี้รายใหม่ได้เพียงเท่าที่เป็นประกันวัตถุแห่งหนี้เดิม แต่หลักประกันเช่นว่านี้ ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ให้ไว้ไซร้ ท่านว่าจำต้องได้รับความยินยอมของบุคคลภายนอกนั้นด้วยจึงโอนได้”

ดังนี้ คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่คดีนี้คือโจทก์และจำเลย ซึ่งปรากฏตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ (หรือสัญญาแปลงหนี้ใหม่รายนี้) ตามสัญญาข้อ 3 ชัดเจนว่า ให้ถือว่าจำเลยในฐานะผู้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจำนอง และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ฉบับลงวันที่ 6 มิถุนายน 2506 ที่ได้จำนองค้ำประกันหนี้ของนายอรรณพไว้ มีผลผูกพันตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับนี้ด้วย และตามสัญญาข้อ 4 จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้หนังสือฉบับนี้เป็นหลักฐานในการฟ้องบังคับจำนองกับจำเลยแต่ผู้เดียวได้ทันที ฉะนั้น จำเลยจะอ้างว่า สัญญาจำนองของจำเลยไม่มีผลผูกพันจำเลยไม่ได้ หรือจะอ้างว่า สัญญาจำนองของจำเลยระงับไปตามมาตรา 744 ก็ไม่ได้ดุจกัน เพราะข้อตกลงตามสัญญาข้อ 3 ดังกล่าว เป็นเรื่องที่จำเลยยอมโอนสิทธิจำนองของจำเลยที่ค้ำประกันหนี้เดิมของนายอรรณพมาเป็นประกันหนี้ที่แปลงใหม่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ตามมาตรา 352 โดยตรง ซึ่งเป็นการโอนโดยข้อตกลงของคู่กรณีที่แปลงหนี้ใหม่ และมาตรา 352 มิได้บังคับไว้เลยว่าคู่กรณีต้องจดทะเบียนจำนองที่โอนไปแล้วนั้นด้วย ก็เพราะเหตุว่าคู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่คือโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนจำนองต่อกันมาแล้วนั่นเอง ก่อนมีการแปลงหนี้ใหม่ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องจดทะเบียนจำนองซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ทั้งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อย่างกรณีของจำเลยนี้ มาตรา 350 บัญญัติว่า จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่เท่านั้นก็ใช้ได้ฉะนั้น การโอนสิทธิจำนองของจำเลยเป็นประกันหนี้ที่แปลงใหม่ ตามมาตรา 352 จึงทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยก็ใช้ได้เช่นเดียวกันโดยไม่จำต้องจดทะเบียนจำนองซ้ำอีกอย่างจำนองธรรมดาที่เป็นหลักทั่วไปและมาตรา 352 ก็มิได้ใช้บังคับเฉพาะกรณีแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เท่านั้นดังที่จำเลยฎีกา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้

ตามฟ้องและตามสัญญารับสภาพหนี้ข้อ 1 ข้อ 2 นายอรรณพลูกหนี้เดิมของโจทก์ค้างชำระหนี้โจทก์ (ซึ่งรวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยทบต้น) เป็นเงิน 234,186.06 บาท และนายอรรณพไม่สามารถชำระหนี้ได้ จำเลยจึงตกลงเข้ารับชำระหนี้จำนวนนี้แทน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2510 ฉะนั้น สัญญากู้เงินเบิกเงินเกินบัญชีหรือบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับนายอรรณพจึงระงับไปตั้งแต่วันนั้นแล้ว ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิจะคิดดอกเบี้ยทบต้นจากนายอรรณพหรือจากจำเลยผู้รับชำระหนี้แทนนายอรรณพได้อีกต่อไป เพราะจำเลยมิได้เบิกเงินเกินบัญชีหรือมีบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารโจทก์ จำเลยเป็นแต่เพียงลูกหนี้คนใหม่ ในการแปลงหนี้ใหม่กับโจทก์ ซึ่งไม่ใช่ประเพณีการค้าขายอย่างบัญชีเดินสะพัดหรือในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเดียวกับบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรค 2 ฉะนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญารับสภาพหนี้ตลอดมาตามฟ้อง และตามสัญญารับสภาพหนี้ข้อ 2 จึงต้องห้ามตามกฎหมาย โจทก์มีเพียงสิทธิจะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีในจำนวนหนี้เงิน 234,186.06 บาท ที่จำเลยรับชำระหนี้แทนนายอรรณพตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดเท่านั้นโดยจะคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่วันที่31 สิงหาคม 2512 ซึ่งโจทก์ไม่ได้โต้แย้ง และปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 50,089 บาท ซึ่งต้องหักออกจากจำนวนหนี้เงิน 234,186.06 บาท เสียก่อน คงเหลือเงินที่จำเลยต้องรับผิดใช้ให้โจทก์ 184,097.06 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ตามข้อตกลงในต้นเงินนี้ตั้งแต่วันที่31 สิงหาคม 2512 เป็นต้นไป โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้โจทก์

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์184,097.06 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2512 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นโดยไม่ทบต้นดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share