แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาแล้วฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งศาลดังกล่าวได้ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประการใด คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย นายไวชาญดำรงกุลชัย ทำสัญญาประกันจำเลยในระหว่างอุทธรณ์เป็นเงินจำนวน100,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่27 กุมภาพันธ์ 2524 ผู้ประกันยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งตัวอ้างว่ายังตามหาจำเลยไม่พบ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาหลังจากนั้นได้ออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่จับตัวจำเลยไม่ได้ และได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 16เมษายน 2534 ซึ่งพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2534ผู้ประกันยื่นคำร้องขอส่งมอบตัวจำเลยต่อศาลและขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาลดค่าปรับหรืองดค่าปรับแก่ผู้ประกัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 119 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 4บัญญัติว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณืได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ดังนั้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุดแล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ประกันมา จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของผู้ประกัน.