คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19481/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะทำสัญญา Construction, Sale and Purchase Agreement เรือใบคาตามารัน Silkline ยังไม่มีการสร้างขึ้น และจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกแนวคิดและมอบหมายให้ผู้อื่นออกแบบเบื้องต้นซึ่งจำเลยทั้งสองได้จัดซื้อแบบดังกล่าวและได้จัดหาลูกค้าที่ต้องการให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนในการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์และเข้าทำสัญญากับอู่ต่อเรือที่จะให้ได้มาซึ่งเรือคาตามารันที่มีลักษณะจำเพาะตามรูปแบบที่เรียกว่า Silkline ดังกล่าว เจือสมกับข้อความในสัญญาดังกล่าวซึ่งระบุว่า เรือใบคาตามารัน Silkline ที่มีการทำสัญญากันนั้นเป็นเรือใบคาตามารันที่มีลักษณะจำเพาะตามแบบเขียนแนบท้ายสัญญาซึ่งเป็นแนวคิดเท่านั้น ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ขณะทำสัญญา ยังไม่เคยมีการสร้างเรือใบคาตามารันในรูปแบบที่เรียกว่า Silkline ตามที่ระบุในสัญญาดังกล่าวมาก่อน
เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญาที่ระบุว่า จำเลยทั้งสองซึ่งต่อไปในสัญญาเรียกว่าตัวแทนได้ตกลงในการจัดการหรือจัดเตรียมเรือใบคาตามารันตามแบบท้ายสัญญาซึ่งเป็นแบบเขียนตามแนวคิดโดยระบุว่าลิขสิทธิ์หรือการป้องกันในลักษณะเดียวกันในส่วนของแบบเขียน แนวคิด แบบการต่อเรือที่ถูกจัดเตรียมโดยตัวแทนยังคงเป็นของตัวแทนเพียงผู้เดียว และในสัญญายังระบุถึงความรับผิดชอบของตัวแทนว่าตัวแทนเป็นผู้ตระเตรียมในส่วนของอู่ต่อเรือในการต่อเรือใบคาตามารันให้เสร็จสมบูรณ์ตามแบบเขียนและกำหนดเวลาและตระเตรียมในส่วนของอู่ต่อเรือในการรับประกันฝีมืองานช่างที่ใช้ในการต่อเรือดังกล่าวโดยการรับประกันทั้งหมดที่ได้รับจากผู้ขายโดยอู่ต่อเรือ ตัวแทนจะต้องโอนให้แก่เจ้าของเรือโดยตรง และการรับประกันจะต้องมีผลบังคับในวันที่ทำการส่งมอบและมีการชำระเงินงวดสุดท้ายเต็มจำนวนโดยสมบูรณ์ และต้องมีระยะเวลาในการรับประกันโดยสมบูรณ์ตามที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ ทั้งนี้ตามสัญญาข้อ 5 อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาระบุให้ตัวแทนเริ่มต้นทำการจัดซื้อวัสดุต่าง ๆ ให้แก่อู่ต่อเรือหลังจากที่ตัวแทนได้รับเงินตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 21 สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาซื้อขาย แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ตามสัญญาต้องจัดหาอู่ต่อเรือ จัดซื้อวัสดุในการต่อเรือจากเงินที่ได้รับตามสัญญา ควบคุมดูแลให้การต่อเรือเป็นไปตามแบบแนบท้ายสัญญา และต้องดำเนินการให้ผู้ผลิตคืออู่ต่อเรือเป็นผู้รับผิดชอบในการรับประกันฝีมือแรงงานช่างที่ใช้ในการต่อเรือภายหลังมีการส่งมอบสมบูรณ์แล้ว ในสัญญาข้อ 3 ระบุถึงหลักเกณฑ์ในการส่งมอบว่า การส่งมอบเรือดังกล่าวขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเจ้าของเรือในความสมบูรณ์ตามเอกสารแนบท้ายสัญญา แบบเขียน และกำหนดการ และเมื่อมีการชำระเงินทั้งหมดโดยสมบูรณ์และเต็มจำนวนให้กับตัวแทนตามสัญญา โดยตามสัญญาข้อ 5 ระบุว่า สัญญาจะสิ้นสุดลงเมื่อมีการส่งมอบเรือใบคาตามารันให้แก่เจ้าของและมีการชำระเงินงวดสุดท้ายทั้งหมด
เมื่อทางนำสืบของคู่ความได้ความว่า การต่อเรือดังกล่าวไม่มีปัญหาเรื่องการผิดแบบแปลนและกำหนดเวลาแล้วเสร็จ ทั้งปรากฏตามสัญญาจ้างต่อเรือว่า มีการรับประกันสำหรับเรือ ฝีมือแรงงาน และการติดตั้งวัสดุจากอู่ต่อเรือเวฟมาสเตอร์ฯ ในสัญญาดังกล่าวด้วย อันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ทั้งการที่ ซ. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปรับมอบเรือแทนโจทก์ได้เดินทางไปรับมอบเรือดังกล่าวจากอู่เรือดังกล่าว ที่ประเทศมาเลเซีย แล้วนำล่องทะเลกลับมาที่จังหวัดภูเก็ต แสดงว่า ซ. พึงพอใจในเรือที่ต่อส่งผลให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญางวดสุดท้ายให้แก่จำเลยทั้งสองในวันรุ่งขึ้น ถือว่าโจทก์ได้รับมอบเรือไว้ตามหลักเกณฑ์ในการส่งมอบที่ระบุในสัญญาแล้ว สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงสิ้นสุดและจำเลยทั้งสองพ้นจากความรับผิดชอบในเรือดังกล่าว โดยเป็นความรับผิดชอบต่อไปของอู่ต่อเรือตามการรับประกันดังที่ระบุไว้ในสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ของเงินต้น 62,435,238.88 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง และให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายไซม่อนต้องการเป็นเจ้าของเรือใบ คาตามารัน Silkline จึงขอให้โจทก์ช่วยสนับสนุนด้านเงินทุนซึ่งโจทก์ตกลงและมีการติดต่อให้จำเลยทั้งสองซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหาเรือใบคาตามารันในประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดยในวันที่ 28 ตุลาคม 2548 โจทก์ได้ทำสัญญา กับจำเลยทั้งสองซึ่งมีมูลค่าตามสัญญา 300,000 ดอลลาร์ออสเตรเลียและในการว่าจ้างอู่ต่อเรือให้ทำการต่อเรือนั้น จำเลยทั้งสองได้ให้บริษัทซีรัส – เอเชีย จำกัด ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเชิดเข้าทำสัญญาว่าจ้างเวฟมาสเตอร์ ลังกาวี ยอชท์ เซ็นเตอร์ เอสดีเอน บีเอชดี หรือที่เรียกว่าอู่ต่อเรือเวฟมาสเตอร์ฯ ต่อเรือดังกล่าวให้ ตามสัญญาจ้างต่อเรือ ทั้งนี้โดยการกำหนดรูปแบบและเนื้อความของสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวรวมทั้งการประสานงานกับจำเลยทั้งสองนั้นนายไซม่อน เป็นผู้ดำเนินการแทนโจทก์ เมื่อมีการต่อเรือดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยโจทก์มอบหมายให้นายไซม่อน เดินทางไปรับมอบเรือที่อู่ต่อเรือเวฟมาสเตอร์ฯ ซึ่งอยู่ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย และล่องเรือดังกล่าวนำกลับมาที่จังหวัดภูเก็ต ต่อมาในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 24 สิงหาคม 2549 โจทก์ได้ชำระเงินงวดสุดท้ายซึ่งเป็นการชำระเงินครบถ้วนตามสัญญา หลังจากนั้นโจทก์นำเรือไปทำการตกแต่งภายใน ตามสัญญาจ้างซึ่งมีนายโรเจอร์ ดิกเกิลแมน เป็นผู้ลงนามเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับจ้าง และโจทก์ชำระเงินค่าตกแต่งภายในผ่านทางนายไซม่อน และนายไซม่อน ชำระโดยโอนผ่านบัญชีของจำเลยทั้งสอง ครั้งสุดท้ายที่มีการโอนชำระเงินดังกล่าวครบถ้วนคือวันที่ 31 มกราคม 2550 ตามหลักฐานการโอนเงิน เมื่อชำระค่าตกแต่งเรืองวดสุดท้ายและรับมอบเรือแล้ว นายไซม่อน ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเรือดังกล่าวได้นำเรือออกแล่นในทะเลรวมทั้งให้เช่าบริการเหมาลำ ต่อมาเมื่อวันที่18 มกราคม 2551 ระหว่างที่นายไซม่อน กับนางสาวศิริกร ล่องเรือดังกล่าวไปด้วยกันตามลำพัง ขณะกำลังจะนำเรือเข้าเทียบฝั่งที่เกาะพะยามซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดภูเก็ต เกิดเหตุเรือล่มในทะเลอันเป็นเหตุให้โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วที่โจทก์อุทธรณ์มีใจความโดยสรุปว่า สัญญาเป็นสัญญาซื้อขายเรือใบคาตามารันตามรูปแบบที่ตกลงกันไว้ในสัญญาซึ่งแม้ขณะทำสัญญายังไม่มีการต่อเรือดังกล่าวขึ้นมาก็มีผลทำให้เป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์ที่ยังไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง และการที่เรือดังกล่าวล่มในทะเลไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อในการนำเรือไปแล่นชนหินโสโครกหรือสิ่งกีดขวางในทะเล แต่เกิดจากความชำรุดบกพร่องของรอยเชื่อมที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อตกลงในสัญญาจ้างต่อเรือ ซึ่งกำหนดให้ใช้มาตรฐานฝีมือช่างเชื่อมของลอยด์ อันเป็นความชำรุดบกพร่องที่ไม่เห็นประจักษ์ในเวลารับมอบเรือ ซึ่งจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขายเรือดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญา ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ขณะทำสัญญา เรือใบคาตามารัน Silkline ยังไม่มีการสร้างขึ้น และจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกแนวคิดและมอบหมายให้ผู้อื่นออกแบบเบื้องต้นซึ่งจำเลยทั้งสองได้จัดซื้อแบบดังกล่าวและได้จัดหาลูกค้าที่ต้องการให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนในการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์และเข้าทำสัญญากับอู่ต่อเรือที่จะให้ได้มาซึ่งเรือใบคาตามารันตามรูปแบบที่เรียกว่า Silkline ดังกล่าว ซึ่งเจือสมกับข้อความในสัญญาระบุว่า เรือใบคาตามารัน Silkline ที่มีการทำสัญญากันนั้นเป็นเรือใบคาตามารันที่มีลักษณะจำเพาะตามแบบเขียนแนบท้ายสัญญาซึ่งเป็นแนวคิดเท่านั้น ซึ่งในเรื่องดังกล่าวโจทก์คงมีพยานคือ นายสตีเว่น มาเบิกความได้ความเพียงว่า พยานประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายและได้รับคำบอกเล่าจากนายไซม่อน ซึ่งต่อมาได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตแล้วว่า นายไซม่อน ได้พบข้อมูลเกี่ยวกับเรือใบคาตามารัน Silkline จากการโฆษณาของจำเลยทั้งสอง ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ขณะทำสัญญา ยังไม่เคยมีการสร้างเรือใบคาตามารันในรูปแบบที่เรียกว่า Silkline ตามที่ระบุในสัญญาดังกล่าวมาก่อน
เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญา ที่ระบุว่า จำเลยทั้งสองซึ่งต่อไปในสัญญาเรียกว่าตัวแทนได้ตกลงในการจัดการหรือจัดเตรียมเรือใบคาตามารันตามแบบท้ายสัญญาซึ่งเป็นแบบเขียนตามแนวคิดโดยในข้อ 17 ระบุว่า ลิขสิทธิ์หรือการป้องกันในลักษณะเดียวกันในส่วนของแบบเขียน แนวคิด แบบการต่อเรือที่ถูกจัดเตรียมโดยตัวแทนยังคงเป็นของตัวแทนเพียงผู้เดียว และในสัญญาข้อ 8 ระบุถึงความรับผิดชอบของตัวแทนว่าตัวแทนเป็นผู้ตระเตรียมในส่วนของอู่ต่อเรือในการต่อเรือใบคาตามารันให้เสร็จสมบูรณ์ตามแบบเขียนและกำหนดเวลา และตระเตรียมในส่วนของอู่ต่อเรือในการรับประกันฝีมืองานช่างที่ใช้ในการต่อเรือดังกล่าวโดยการรับประกันทั้งหมดที่ได้รับจากผู้ขายโดยอู่ต่อเรือ ตัวแทนจะต้องโอนให้แก่เจ้าของเรือโดยตรง และการรับประกันจะต้องมีผลบังคับในวันที่ทำการส่งมอบและมีการชำระเงินงวดสุดท้ายเต็มจำนวนโดยสมบูรณ์ และต้องมีระยะเวลาในการรับประกันโดยสมบูรณ์ตามที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ ทั้งนี้ตามสัญญาข้อ 5 อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาระบุให้ตัวแทนเริ่มต้นทำการจัดซื้อวัสดุต่าง ๆ ให้แก่อู่ต่อเรือหลังจากที่ตัวแทนได้รับเงินตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 21 สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาซื้อขาย แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ตามสัญญาต้องจัดหาอู่ต่อเรือ จัดซื้อวัสดุในการต่อเรือจากเงินที่ได้รับตามสัญญาและควบคุมดูแลให้การต่อเรือเป็นไปตามแบบแนบท้ายสัญญาซึ่งเป็นแบบเขียนตามแนวคิดซึ่งในสัญญาระบุถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง และต้องดำเนินการให้ผู้ผลิตคืออู่ต่อเรือเป็นผู้รับผิดชอบในการรับประกันฝีมือแรงงานช่างที่ใช้ในการต่อเรือภายหลังมีการส่งมอบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากฝีมือช่างที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการส่งมอบเรือ และในสัญญาข้อ 3 ระบุถึงหลักเกณฑ์ในการส่งมอบว่า การส่งมอบเรือดังกล่าวขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเจ้าของเรือในความสมบูรณ์ตามที่อ้างอิงตามเอกสารแนบท้ายสัญญาแบบเขียนและกำหนดการ และเมื่อมีการชำระเงินทั้งหมดโดยสมบูรณ์และเต็มจำนวนให้กับตัวแทนตามที่ได้อ้างอิงในส่วนของกำหนดการชำระเงินในสัญญาฉบับนี้ โดยตามสัญญาข้อ 5 ระบุว่า สัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อมีการส่งมอบเรือใบคาตามารันให้แก่เจ้าของและมีการชำระเงินงวดสุดท้ายทั้งหมด
เมื่อทางนำสืบของคู่ความได้ความว่า การต่อเรือดังกล่าวไม่มีปัญหาเรื่องการผิดแบบแปลนและกำหนดเวลาแล้วเสร็จ ทั้งยังปรากฏตามสัญญาจ้างต่อเรือ ข้อ 1.1.8 และข้อ 17.2 ว่า มีการรับประกันสำหรับเรือ ฝีมือแรงงาน และการติดตั้งวัสดุจากอู่ต่อเรือเวฟมาสเตอร์ฯ ในสัญญาดังกล่าวด้วย อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ทั้งการที่นายไซม่อน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปรับมอบเรือแทนโจทก์ได้เดินทางไปรับมอบเรือดังกล่าวจากอู่ต่อเรือเวฟมาสเตอร์ฯ ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย แล้วนำล่องทางทะเลกลับมาที่จังหวัดภูเก็ต แสดงให้เห็นว่านายไซม่อน มีความพึงพอใจในเรือที่ต่อขึ้นจึงมีการยอมรับมอบนำกลับมาที่จังหวัดภูเก็ต อันส่งผลให้โจทก์มีการชำระเงินตามสัญญา งวดสุดท้ายให้แก่จำเลยทั้งสองในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ซึ่งแม้ได้ความจากพยานโจทก์ปากนายสตีเว่นว่า ในวันที่รับมอบเรือดังกล่าวนายไซม่อน ตรวจสอบพบความชำรุดบกพร่องที่เห็นประจักษ์บางรายการแต่จำเลยทั้งสองได้จัดการให้มีการแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เห็นประจักษ์นั้นแล้ว และยังปรากฏว่าโจทก์ได้โอนเงินงวดสุดท้ายสำหรับงานในส่วนของการตกแต่งภายในของเรือดังกล่าวผ่านทางนายไซม่อน ให้แก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2550ตามหลักฐานการโอนเงิน ซึ่งแม้งานในส่วนนี้เป็นคนละส่วนกับงานโครงสร้างเรือซึ่งผู้ลงนามในสัญญาตกแต่งเรือคือ นายโรเจอร์ ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่มีการชำระเงินงวดสุดท้ายของงานตกแต่งภายในให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า นายไซม่อน มีความพึงพอใจในเรือที่ได้รับมอบว่าถูกต้องตรงตามข้อตกลงในสัญญานั้นแล้ว จึงมีการชำระเงินเสร็จสิ้นทั้งสองสัญญา เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่นายไซม่อน เป็นผู้ที่มีความต้องการเรือดังกล่าวแต่ไม่มีเงินทุนเพียงพอจึงขอให้โจทก์ออกเงินทุนให้ก่อน เป็นเหตุให้โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยทั้งสอง โดยมีนายไซม่อน เป็นผู้ติดต่อประสานงานตั้งแต่ก่อนมีการทำสัญญาจนมีการทำสัญญา และภายหลังรับมอบเรือมีการดำเนินการจดทะเบียนให้นายไซม่อน เป็นเจ้าของเรือดังกล่าว จึงถือว่าโจทก์โดยนายไซม่อน ได้รับมอบเรือดังกล่าวไว้ตามหลักเกณฑ์ในการส่งมอบเรือที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว ซึ่งเป็นผลให้สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นอันสิ้นสุดตามความในสัญญาข้อ 5 และจำเลยทั้งสองพ้นจากความรับผิดชอบในเรือดังกล่าว โดยเป็นความรับผิดชอบต่อไปของอู่ต่อเรือตามการรับประกันดังที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 7.2 นอกจากนี้ยังได้ความว่า นายไซม่อนซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเรือได้เรียกร้องค่าเสียหายทำนองเดียวกับคดีนี้จากอู่ต่อเรือเวฟมาสเตอร์ฯ โดยเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในประเทศมาเลเซียไว้ด้วยและอยู่ระหว่างรอการวินิจฉัย จึงเป็นพฤติการณ์ที่สอดรับกับข้อตกลงในสัญญา ที่กำหนดให้ตัวแทนต้องโอนการรับประกันที่ได้รับจากอู่ต่อเรือซึ่งเป็นผู้ผลิตให้แก่เจ้าของ ซึ่งจากพฤติการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนายไซม่อน อันเกี่ยวกับสัญญา ที่นายไซม่อน เป็นผู้ที่ต้องการเรือใบคาตามารันดังกล่าวและอยู่เบื้องหลังในการที่โจทก์ซึ่งเป็นนายทุนเข้าทำสัญญา โดยจำเลยทั้งสองทราบเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงต้องตีความคำว่าเจ้าของนั้นว่า คู่สัญญามีเจตนารมณ์ให้มีความหมายรวมถึงนายไซม่อน ซึ่งต่อมาได้มีการจดทะเบียนเป็นเจ้าของเรือดังกล่าวด้วย ทั้งนายสตีเว่น เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองรับว่า ในคดีที่ประเทศมาเลเซีย (หมายถึงคดีที่มีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาตโตตุลาการในประเทศมาเลเซีย)นั้น โจทก์และนายไซม่อน ได้เข้าสวมสิทธิของจำเลยทั้งสองในนามบริษัทซีรัส – เอเชียจำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาต่อเรือ เรียกร้องค่าเสียหายในกรณีดังกล่าวจากอู่ต่อเรือเวฟมาสเตอร์ฯ จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองพ้นจากความรับผิดชอบตามสัญญา โดยไม่ได้ตกเป็นผู้ผิดสัญญาตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง เมื่อฟังว่าก่อนเกิดเหตุเรือล่มจำเลยทั้งสองพ้นจากความรับผิดชอบตามสัญญาแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นอื่น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share