คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองตั้งให้โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทจำเลยที่ 2 โดยโจทก์เป็นผู้ติดต่อหาลูกค้า เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้า โจทก์จะส่งคำสั่งซื้อของลูกค้ามายังจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองก็จะแจ้งกลับไปยังโจทก์ว่าจะส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้เมื่อใด โจทก์จึงแจ้งให้ลูกค้าเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระราคาสินค้าให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองจัดส่งสินค้าแล้วก็จะเรียกเก็บเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ลูกค้าเปิดไว้เห็นได้ว่าลูกค้ามิได้สั่งซื้อและรับสินค้ากับชำระราคาสินค้าแก่โจทก์โดยตรง ราคาสินค้าที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้าก็คือราคาที่จำเลยทั้งสองขายให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยทั้งสองจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ร้อยละ 3 ถึง ร้อยละ 7 ของจำนวนสินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อ โจทก์มิได้ขายสินค้าของจำเลยที่ 2 ในนามของตนเองจึงไม่ใช่ตัวแทนค้าต่างของจำเลยทั้งสอง แต่การที่จำเลยทั้งสองตั้งให้โจทก์เป็นผู้แทนขายสินค้าในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและฮ่องกงและโจทก์ตกลงทำการดังกล่าว ย่อมเข้าลักษณะของสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นจึงตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน จำเลยทั้งสองในฐานะตัวการย่อมมีสิทธิถอนโจทก์ออกจากการเป็นตัวแทนเสียเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 วรรคแรก ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองแจ้งแก่โจทก์ขอให้เลิกสัญญาโดยไม่ตั้งโจทก์เป็นตัวแทนอีกต่อไปย่อมเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและมีผลตามกฎหมายทันที ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาได้ส่วนความเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่โจทก์นั้นโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งไม่อาจถือว่าการที่จำเลยทั้งสองถอนโจทก์ออกจากการเป็นตัวแทนโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการถอนตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายแห่งดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มีสำนักงานอยู่ที่เกาะเกาลูน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนในประเทศไทย เมื่อประมาณปี 2537 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ “COTTO” (คอตโต้) ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมทั้งฮ่องกง โดยจำเลยทั้งสองตกลงชำระค่าตอบแทนและค่าตอบแทนพิเศษจากการขายสินค้าให้แก่โจทก์ตามอัตราที่กำหนดโดยคำนวณจากยอดการขายที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าของโจทก์ โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมาโดยได้ลงทุนและเสียค่าใช้จ่ายในการบุกเบิกตลาดและหาลูกค้าภายในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมทั้งฮ่องกงจนทำให้เครื่องสุขภัณฑ์ COTTO เป็นที่ยอมรับของลูกค้า ทำให้มียอดการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมา เดือนสิงหาคม 2542 จำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายโดยไม่ชอบแล้วได้ติดต่อขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของโจทก์โดยตรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าที่โจทก์ควรได้รับจากยอดขายในครึ่งปีหลังของปี 2542 เป็นเงิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าสูญเสียรายได้ปีละ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่โจทก์ขอคิดเป็นเงินเพียง 750,000 ดอลลาร์สหรัฐรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 900,000 ดอลลาร์สหรัฐขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 900,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้ถืออัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทตามอัตราขายเงินดอลลาร์สหรัฐถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศในวันที่ศาลมีคำพิพากษา

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่ได้แต่งตั้งโจทก์ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าตามที่โจทก์อ้าง หากฟังว่าจำเลยทั้งสองแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าตามคำฟ้อง โจทก์ก็มิได้ลงทุนและเสียค่าใช้จ่ายในการบุกเบิกตลาดและหาลูกค้าแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองได้บอกเลิกการแต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าแล้วตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2542 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าตอบแทนและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 28,001.56 ดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ณ สิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนมีคำพิพากษา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มีสำนักงานอยู่ที่เกาะเกาลูน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศ จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการผลิตสินค้าจำพวกเครื่องสุขภัณฑ์โดยใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า คอตโต้ หรือ COTTO เมื่อปี 2537 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าสุขภัณฑ์ COTTO โดยมีหน้าที่ติดต่อลูกค้าและรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมทั้งฮ่องกง เมื่อได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้า โจทก์ก็จะส่งเอกสารคำสั่งซื้อของลูกค้าไปให้จำเลยทั้งสอง หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองจะแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้เมื่อใด โจทก์ก็จะแจ้งให้ลูกค้าเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระราคาสินค้าให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองจัดส่งสินค้าแล้วก็จะเรียกเก็บเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจำเลยทั้งสองตกลงจ่ายค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 7 ของยอดสั่งซื้อสินค้าที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้าในประเทศดังกล่าว จำนวนค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยทั้งสองไปแล้วคำนวณถึงเดือนมิถุนายน 2542 เป็นเงินทั้งสิ้น 718,532.82 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาวันที่5 สิงหาคม 2542 จำเลยทั้งสองได้แจ้งเลิกสัญญาโดยไม่ให้โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป ยอดสั่งซื้อสินค้าของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม2542 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2542 เป็นเงิน 700,039 ดอลลาร์สหรัฐ

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นประการแรกว่า การบอกเลิกสัญญาของจำเลยทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นสัญญานอกบรรพ3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ได้แต่ฝ่ายเดียว การบอกเลิกสัญญาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยทั้งสองตกลงตั้งให้โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์เป็นผู้ไปติดต่อหาลูกค้า เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าของจำเลยที่ 2 จากโจทก์ โจทก์ก็จะส่งคำสั่งซื้อของลูกค้ามายังจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองก็จะแจ้งกลับไปยังโจทก์ว่าสามารถส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้เมื่อใด โจทก์จึงแจ้งให้ลูกค้าเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระราคาสินค้าให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองจัดส่งสินค้าแล้วก็จะเรียกเก็บเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ลูกค้าเปิดไว้ เห็นได้ว่าลูกค้ามิได้สั่งซื้อสินค้าแล้วรับสินค้ากับชำระราคาสินค้าแก่โจทก์โดยตรง ราคาสินค้าที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้าคือราคาที่จำเลยทั้งสองขายให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยทั้งสองจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นจำนวนร้อยละ 3ถึงร้อยละ 7 ของจำนวนค่าสินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อ โจทก์มิได้ขายสินค้าของจำเลยที่ 2 ในนามของตนเอง โจทก์จึงไม่ใช่ตัวแทนค้าต่างของจำเลยทั้งสองแต่การที่จำเลยทั้งสองตกลงแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้แทนทำการขายสินค้าแทนจำเลยทั้งสองในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมทั้งฮ่องกง และโจทก์ตกลงรับทำการดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะของสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นจึงตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน จำเลยทั้งสองในฐานะตัวการย่อมมีสิทธิถอนโจทก์ออกจากการเป็นตัวแทนเสียเมื่อใดก็ได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 วรรคแรก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวก็ให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนจะบอกเลิกการเป็นตัวแทนเสียเมื่อใดก็ได้เช่นเดียวกันโดยการถอนตัวแทนหรือบอกเลิกการเป็นตัวแทนตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีเงื่อนไขให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนแต่อย่างใด ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองแจ้งแก่โจทก์ขอเลิกสัญญาโดยไม่ตั้งโจทก์เป็นตัวแทนอีกต่อไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2542 ย่อมเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและมีผลตามกฎหมายทันทีและไม่ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากยอดขายสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2542จำนวน 700,039 ดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราร้อยละ 7 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองได้ตกลงจะจ่ายเงินค่าตอบแทนในยอดสั่งซื้อสินค้าจำนวน 700,039 ดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งเทียบแล้วเท่ากับอัตราร้อยละ7 ของยอดสั่งซื้อสินค้าดังกล่าว ทั้งยอดสั่งซื้อสินค้าตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 ถึงเดือนมิถุนายน 2542 จำนวน 2,250,642.37 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ก็ได้รับค่าตอบแทนจำนวน157,544.96 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่าร้อยละ 7 ดังนั้น ค่าตอบแทนจากยอดสั่งซื้อสินค้าจำนวน 700,039 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยทั้งสองต้องจ่ายให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7 เป็นเงิน49,002.73 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่จำนวน 28,001.56 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้นั้น เห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองตกลงจะจ่ายค่าตอบแทนจำนวน 2,000,000 บาท สำหรับยอดสั่งซื้อสินค้าจำนวน 700,039 ดอลลาร์สหรัฐ ตามเอกสารหมาย จ.13 นั้น นางสาวกฤษณา นาถพิสิฐผู้จัดการวัสดุตกแต่งและผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานของจำเลยทั้งสองประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าข้อความตามเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอของนายไผท ปรปักษ์ขาม พนักงานบริษัทจำเลยที่ 2 เพื่อการประนีประนอมกันซึ่งนายเชวง หมื่นชาญทิพย์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และนายสมบูลย์วัฒนาสุวรรณ กรรมการบริษัทโจทก์ก็มาเบิกความประกอบบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงรับว่านายไผทได้เสนอจะให้ค่าตอบแทนการขายแก่โจทก์จำนวน 2,000,000 บาท เมื่อพิจารณาประกอบเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งลงวันที่ 14 กันยายน 2542 อันเป็นเวลาภายหลังการบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว 1 เดือนเศษ จึงน่าเชื่อว่าเอกสารหมาย จ.13 เป็นเพียงข้อเสนอของพนักงานบริษัทจำเลยที่ 2 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงตามข้อเสนอดังกล่าวเอกสารหมาย จ.13 จึงไม่ผูกพันจำเลยทั้งสอง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2542 โจทก์สามารถทำยอดขายสินค้าให้แก่จำเลยทั้งสองได้เป็นเงินเกินกว่า 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐและจำเลยทั้งสองจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7 ดังนั้น ยอดการขายสินค้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2542 จำนวน 700,039 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยทั้งสองก็จะต้องชำระค่าตอบแทนการขายให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7 ด้วยนั้นเห็นว่าตามตารางแสดงยอดสั่งซื้อสินค้าเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งเป็นตารางแสดงการสั่งซื้อตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2541 ช่วงละ 6 เดือน จะปรากฏจำนวนเงินที่สั่งซื้อ จำนวนค่าตอบแทนการขาย และจำนวนค่าตอบแทนพิเศษ แต่ในปี 2542 จะแสดงยอดขายสินค้าในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมจำนวน 814,678.10 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวนค่าตอบแทนการขายเป็นเงิน 24,440.34 ดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2542 มียอดขายสินค้าจำนวน 1,435,964.27 ดอลลาร์สหรัฐจำนวนค่าตอบแทนการขายเป็นเงิน 43,078.93 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าตอบแทนการขายทั้งสองช่วงเวลาดังกล่าวคำนวณได้เท่ากับอัตราร้อยละ 4 ของจำนวนยอดสั่งซื้อสินค้าในแต่ละช่วง แต่ตามตารางในช่องค่าตอบแทนการขายพิเศษระบุว่าเป็นจำนวน90,025.69 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีวงเล็บปีกการวมรายการทั้งสองช่วงเข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อรวมค่าตอบแทนการขายและค่าตอบแทนการขายพิเศษใน 2 ช่วงเวลา ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2542 แล้ว โจทก์จะได้เงินค่าตอบแทนการขายรวมทั้งหมดจำนวน157,544.96 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเท่ากับจำนวนร้อยละ 7 ของเงินจำนวน 2,250,642.37ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นยอดขายสินค้าทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าอัตราค่าตอบแทนการขายในปี 2542 จำเลยทั้งสองจะจ่ายให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 4 ของจำนวนยอดขายสินค้าในแต่ละช่วงหากในช่วงใดหรือแต่ละช่วงรวมกันในปีเดียวกันมียอดการขายสินค้าถึงจำนวนที่จำเลยทั้งสองกำหนดไว้ จำเลยทั้งสองจะจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้แก่โจทก์ โดยคิดค่าตอบแทนการขายเพิ่มให้เป็นร้อยละ 7 โดยส่วนที่เพิ่มจากอัตราปกติร้อยละ 4 จะนำไปใส่ไว้ในช่องค่าตอบแทนพิเศษ จะเห็นได้ว่ายอดขายสินค้าในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2542 จำเลยทั้งสองได้คำนวณค่าตอบแทนและค่าตอบแทนพิเศษให้แก่โจทก์แล้ว จึงไม่อาจนำยอดขายสินค้าในช่วงดังกล่าวมารวมกับยอดขายสินค้าในช่วงต่อมาของปีเดียวกัน เพื่อให้จำนวนยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นจนถึงจำนวนที่จำเลยทั้งสองกำหนดไว้ที่จะจ่ายค่าตอบแทนการขายพิเศษได้เพราะจำเลยทั้งสองได้นำมาคิดคำนวณและจ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้ว ดังนั้น ยอดขายสินค้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2542 จำนวน 700,039 ดอลลาร์สหรัฐ จึงมีจำนวนเดียวและมีจำนวนไม่ถึง 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นจำนวนที่จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ในอัตราร้อยละ 7 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการขายในอัตราร้อยละ 4 ของจำนวน 700,039 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งโจทก์ไม่สามารถนำประมาณการยอดการขายสินค้าหลังจากเลิกสัญญาตัวแทนจนถึงสิ้นปี 2542 มารวมเพื่อให้จำนวนยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นถึงจำนวนที่โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนการขายในอัตราร้อยละ 7 ได้ เพราะมีการเลิกสัญญาตัวแทนไปแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าตอบแทนการขายจากยอดขายจำนวน 700,039ดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราร้อยละ 4 เป็นเงิน 28,001.56 ดอลลาร์สหรัฐ นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาตัวแทนหรือไม่เพียงใดเห็นว่า เมื่อรับฟังได้ว่าการบอกเลิกสัญญาตัวแทนของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองย่อมมิได้กระทำผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาได้ สำหรับความเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่โจทก์ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งไม่อาจถือได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองถอนโจทก์ออกจากการเป็นตัวแทนโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการถอนตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่โจทก์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ณสิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์นั้น เป็นการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสองที่ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 28,001.56 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาท ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราขายเงินดอลลาร์สหรัฐถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในเวลาที่ใช้เงินแต่ต้องไม่เกินจำนวนเงินบาทที่คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คำขออื่นให้ยก

Share