คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1944/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ให้คำจำกัดความคำว่าประมาทเลินเล่อตามมาตรา 420 ไว้ คงมีแต่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ และตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 แต่ก็กล่าวโดยสรุปได้ความหมายว่า การขาดความระมัดระวังนั่นเอง ระเบียบของวิทยาลัยโจทก์ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยกำหนดอำนาจหน้าที่ยามต้องตรวจตราความเรียบร้อยตลอดเวลาอยู่ประจำทางเข้าออกประตูหน้าที่วิทยาลัยขณะเปิดปิดประตูอยู่อย่างน้อย 1 คน ตลอดเวลา วิทยาลัยของโจทก์มีเนื้อที่ถึง 150 ไร่ มีอาคาร 30 หลัง ทรัพย์สินที่หายเก็บไว้ในอาคาร 2 โดยไม่มีระเบียบชัดแจ้งให้จำเลยต้องสำรวจพื้นที่และทรัพย์สินในอาคารให้ครบทั้ง 30 อาคาร และโดยวิสัยของผู้มีหน้าที่ยามซึ่งต้องดูแลบริเวณที่มีพื้นที่และอาคารมากขนาดนี้ ขณะเข้าเวรเพียงผลัดละ 1 คน จำเลยทั้งสองไม่น่า จะต้องใช้ความระมัดระวังถึงระดับนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาลจำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำ ทำหน้าที่ยามรักษาการณ์อยู่ที่วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสังกัดอยู่กับโจทก์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2529 จำเลยทั้งสองได้เข้าเวรยามรักษาการณ์อยู่ที่วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาให้อยู่ในความเรียบร้อยแต่จำเลยทั้งสองกลับปล่อยปละละเลยไม่ตรวจตราระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เครื่องอัดสำเนาเอกสารจำนวน 7 เครื่องราคา 98,182 บาท ซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่อาคาร 2 ในวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาถูกคนร้ายลักไป การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในการละเมิดดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2529 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 98,182 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของวิทยาลัยทำหน้าที่ยามรักษาการณ์และรักษาความปลอดภัย มีระเบียบของวิทยาลัยโจทก์ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย ล.4หรือ ล.1 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2529 จำเลยทั้งสองมีหน้าที่เข้าเวรตั้งแต่เวลา 24 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นในคืนดังกล่าวมีคนร้ายงัดหน้าต่างบานเกล็ดซึ่งมีเหล็กดัดเข้าไปลักเอาเครื่องอัดสำเนาเอกสารจำนวน 7 เครื่องไป มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยทั้งสองละเมิดโดยปล่อยปละละเลยไม่ตรวจตราระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้ทรัพย์สินหายไป เห็นว่า ในหลักเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 มีอยู่ว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ให้คำจำกัดความคำว่าประมาทเลินเล่อไว้ คงมีแต่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ บัญญัติว่า”กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนาแต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่” นอกจากนี้ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่าประมาทไว้ว่า หมายถึงขาดความรอบคอบ ขาดความระมัดระวังหรือความเลินเล่อกล่าวโดยสรุปก็คงมีความหมายว่า การขาดความระมัดระวังนั่นเองข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบปรากฏว่า วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาของโจทก์มีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ มีอาคารอยู่ประมาณ 30 หลังทรัพย์สินที่เสียหายเก็บไว้ในอาคาร 2 ซึ่งมีเวรประจำตึกเฝ้าอยู่ 1 คน นอกจากนี้มีอาจารย์เวรและอาจารย์ผู้ตรวจเวรคอยดูแลตรวจตราอีกชั้นหนึ่ง ผู้อยู่เวรประจำตึกมีสิทธินอนได้ ส่วนยามต้องตรวจตราทั่วบริเวณไม่มีสิทธินอนพักจนกว่าจะออกเวรมีประตูอยู่ทั้งสี่ทิศแต่เปิดใช้เป็นทางเข้าออกทิศเดียว คือ ทิศเหนือซึ่งติดถนนโรจนะมียามผลัดกันเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนประตูอื่นไม่มียาม ระเบียบตามเอกสารหมาย จ.4 หรือ ล.1 หมวด 4 ข้อ 19กำหนดอำนาจหน้าที่ให้ยามถือปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 19.7ยามต้องตรวจตราความเรียบร้อยตลอดเวลา และข้อ 19.8 ให้ยามอยู่ประจำทางเข้าออกประตูหน้าที่วิทยาลัยขณะเปิดปิดประตูอยู่อย่างน้อย 1 คน ตลอดเวลา ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่า ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีแล้วแต่พื้นที่รับผิดชอบกว้างขวางเกินไปจึงดูแลไม่ทั่วถึง มีข้อที่ต้องพิจารณาเป็นประการแรกว่า ทรัพย์สินดังกล่าวหายไปในช่วงระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ในเรื่องนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า จำเลยทั้งสองเข้ารับเวรต่อจากนายประสิทธิ์ ตรีสุนทร และนายกฤษณะ พงษ์กิตติโรนจ์ขณะที่จำเลยทั้งสองรับมอบเวรได้บันทึกในเอกสารหมาย จ.5 ว่า”เหตุการณ์ปกติ” แต่จะฟังว่า ขณะนั้นทรัพย์สินยังไม่หายหรือไม่นั้นตามข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันปรากฏว่าวิทยาลัยครูของโจทก์มีเนื้อที่ถึง 150 ไร่ มีอาคาร 30 หลัง ทรัพย์สินที่หายเก็บไว้ในอาคาร 2 โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ก่อนจะรับมอบเวรและบันทึกเช่นนั้น จำเลยทั้งสองมีหน้าที่สำรวจพื้นที่และทรัพย์สินในอาคารให้ครบทั้ง 30 อาคาร โดยวิสัยของผู้มีหน้าที่ยามซึ่งต้องดูแลบริเวณที่มีพื้นที่และอาคารมากขนาดนี้ ขณะที่มีการเข้าเวรเพียงผลัดละ 2 คน ทั้งไม่มีระเบียบชัดแจ้งให้กระทำการดังกล่าวจำเลยทั้งสองไม่น่าจะต้องใช้ความระมัดระวังถึงระดับนั้นนอกจากนี้นายประยุทธ ชำนาญหมอ พยานโจทก์ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัย ก็เบิกความตอบคำถามค้านว่า เหตุของหายในเรื่องนี้อาจจะหายในช่วงการอยู่เวรยามของนายกฤษณะกับนายประสิทธิ์ก็ได้ ดังนั้นจะฟังว่าทรัพย์สินที่หายถูกโจรกรรมไปในช่วงระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ยังไม่ได้กรณีอาจจะเป็นไปได้ว่าการตรวจพบว่าทรัพย์สินดังกล่าวหายไปน่าจะเป็นเพราะอาจารย์ผู้มีหน้าที่นอนเวรอาคารที่เกิดเหตุตื่นมาพบเห็นเอง มิใช่เป็นเพราะยามที่มารับเวรต่อจากจำเลยทั้งสองใช้ความระมัดระวังมากกว่าจำเลยทั้งสองก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อ”
พิพากษายืน

Share