แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จแล้วโจทก์แถลงขอส่งสัญญากู้เงินเอกสารฉบับพิพาทไปให้กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจตรวจพิสูจน์ว่าข้อความหมึกสีดำกับข้อความหมึกสีน้ำเงินเป็นลายมือของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต พันตำรวจโทก. ผู้เชี่ยวชาญของศาลได้ตรวจพิจารณาแล้วลงความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือของบุคคลคนเดียวกัน การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้มีการตรวจพิสูจน์เอกสารโดยผู้เชี่ยวชาญตามความประสงค์ของโจทก์ และผู้เชี่ยวชาญของศาลได้ตรวจและทำความเห็นโดยละเอียดชัดแจ้งแล้ว เพียงแต่ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นไม่สมความประสงค์ของโจทก์ ย่อมไม่เป็นเหตุพอที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญอื่นตรวจพิสูจน์เอกสารอีกเพราะเป็นการตรวจพิสูจน์ซ้ำจึงไม่น่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงจากเดิม เป็นการฟุ่มเฟือย และประวิงคดีให้ล่าช้า จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ส่งเอกสารไปให้ผู้เชี่ยวชาญอื่นตรวจพิสูจน์ใหม่อีก จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เพียง 40,000 บาท โดยจำเลยลงลายมือชื่อ ในสัญญากู้ฉบับพิพาทในช่องผู้กู้และเขียนข้อความอื่นซึ่งเขียนด้วยหมึกสีดำส่วนจำนวนเงิน กำหนดเวลาใช้คืนและดอกเบี้ยซึ่งเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินจำเลยไม่ได้เขียนแต่มีการกรอกข้อความที่ระบุจำนวนเงิน กำหนดเวลาใช้คืนและดอกเบี้ยซึ่งเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินซึ่งจำนวนเงินเกินไปจากความจริง โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้เงินฉบับพิพาทจึงเป็นเอกสารปลอม ถือว่าการกู้ยืมเงินคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2533 จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 250,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีกำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2534 นับแต่กู้ยืมเงินไป จำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 437,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 40,000 บาทจำเลยเป็นผู้กรอกข้อความในสัญญากู้ฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องยกเว้นช่องจำนวนเงินโจทก์เป็นผู้กรอกจำนวนเงิน 250,000 บาท ลับหลังจำเลยโดยจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอมและรู้เห็นด้วย สัญญากู้ฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยได้ชำระเงินกู้ยืม40,000 บาท แก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ส่งสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ไปให้ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นตรวจพิสูจน์ใหม่ชอบหรือไม่ คดีได้ความว่า เมื่อสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จแล้ว โจทก์แถลงขอส่งสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2ไปให้กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจตรวจพิสูจน์ว่าข้อความหมึกสีดำกับข้อความหมึกสีน้ำเงินเป็นลายมือของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต พันตำรวจโทกำจร ชื่นบำรุง ผู้เชี่ยวชาญของศาลได้ตรวจพิจารณาแล้วลงความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือของบุคคลคนเดียวกัน เห็นว่า การตั้งผู้เชี่ยวชาญย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลเมื่อเห็นเป็นการสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 99 และมาตรา 129ถึงศาลยังไม่เป็นที่พอใจในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ทำเป็นหนังสือนั้น ให้ศาลตั้งผู้เชี่ยวชาญคนอื่นอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 คดีนี้ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้มีการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.2 โดยผู้เชี่ยวชาญตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของศาลได้ตรวจและทำความเห็นโดยละเอียดชัดแจ้ง เพียงแต่ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นไม่สมความประสงค์ของโจทก์ไม่เป็นเหตุพอที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญอื่นตรวจเอกสารอีก เป็นการตรวจพิสูจน์ซ้ำไม่น่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงจากเดิม เป็นการฟุ่มเฟือยและประวิงคดีให้ล่าช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ส่งสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ไปให้ผู้เชี่ยวชาญอื่นตรวจพิสูจน์ใหม่อีกจึงชอบแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความว่าเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2533 จำเลยมาขอกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 250,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินคืนในวันที่ 10 ธันวาคม 2534 ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือโดยจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความลงในสัญญาเองปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 โดยในวันทำสัญญากู้ยืมภรรยาของจำเลยไม่ได้ไปด้วย ส่วนจำเลยมีจำเลยและนางสงค์ สมัญญาวงศ์ภรรยาของจำเลยมาเบิกความว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 40,000 บาท โดยจำเลยเป็นผู้เขียนสัญญาโดยใช้ปากกาลูกลื่นสีดำส่วนจำนวนเงิน กำหนดเวลาใช้คืนและดอกเบี้ยซึ่งเขียนด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงินจำเลยไม่ได้เขียน จำเลยและนางสงค์ภรรยาของจำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ด้วย เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้ยืมเงินมีการเขียนกรอกข้อความด้วยหมึกสีดำกับหมึกสีน้ำเงินเมื่อนำข้อความที่เขียนด้วยหมึกสีดำกับหมึกสีน้ำเงินดังกล่าวมาตรวจเปรียบเทียบกันแล้วเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก คุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของตัวอักษรและตัวเลขแตกต่างกันอย่างชัดเจนทั้งตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญของศาลเอกสารหมายจ.3 ก็ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือของบุคคลคนเดียวกัน โจทก์เองก็มิได้นำสืบว่าเหตุใดจำเลยจึงใช้ปากกา2 ด้าม เขียนกรอกข้อความในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2และเหตุใดจึงมีลายมือชื่อนางสงค์ภรรยาของจำเลยไปลงชื่ออยู่ในช่องผู้กู้ ทั้ง ๆ ที่โจทก์อ้างว่าในวันทำสัญญากู้เงิน ภรรยาของจำเลยไม่ได้มาด้วย จึงน่าเชื่อตามข้อต่อสู้และการนำสืบของจำเลยว่า ได้กู้ยืมเงินโจทก์เพียง 40,000 บาท โดยจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้และเขียนข้อความอื่นซึ่งเขียนด้วยหมึกสีดำส่วนจำนวนเงิน กำหนดเวลาใช้คืนและดอกเบี้ยซึ่งเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินจำเลยไม่ได้เขียน กรณีจึงเป็นว่ามีการกรอกข้อความที่ระบุจำนวนเงินกำหนดเวลาใช้คืน และดอกเบี้ยซึ่งเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินลงในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้กับเขียนข้อความอื่นซึ่งเขียนด้วยหมึกสีดำให้แก่โจทก์ไว้ ซึ่งจำนวนเงินเกินไปจากความจริง โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นเอกสารปลอม ถือว่าการกู้ยืมเงินคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ได้
พิพากษายืน