แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 มาตรา 8 กำหนดให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมัสยิด ส่วนการแต่งตั้งและถอดถอนนั้น ได้มีระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการเกี่ยวกับศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ.2492 กำหนดไว้ ตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าว อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ต่างก็คือกรรมการอิสลามประจำมัสยิดคนหนึ่งในจำนวนไม่เกิน 15 คน ตามระเบียบข้อ 4 ที่ว่าอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น เป็นกรรมการโดยตำแหน่งนั้น หมายความว่าบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นอิหม่าม คอเต็บ มิหลั่น ไม่ต้องออกตามวาระ 4 ปี ตามระเบียบข้อ 12 เมื่อถึงวาระเลือกตั้งใหม่ ถ้าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีตัวอยู่และดำรงตำแหน่งหน้าที่เรียบร้อยก็ไม่ต้องเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งนั้น ๆ ถ้าดำรงตำแหน่งหน้าที่โดยเรียบร้อยก็ไม่ต้องเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งนั้น ๆ ถ้าดำรงตำแหน่งหน้าที่โดยเรียบร้อยก็อยู่ได้ตลอดไปจนชรา ทุพพลภาพ หรือพิการ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่ง แล้วยกขึ้นเป็นกิติมศักดิ์ในตำแหน่งเดิม แต่ถ้าดำรงตำแหน่งหน้าที่ไม่เรียบร้อย คณะกรรมการดังกล่าวอาจพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่งได้ โดยที่อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ต่างก็เป็นกรรมการอิสลามประจำมัสยิดดังกล่าวแล้ว จึงต้องอยู่ภายใต้ระเบียบที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งได้ตามระเบียบข้อ 13 หาใช่ว่าเป็นอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น แล้วจะได้เป็นอยู่จนชรา ทุพพลภาพหรือพิการเสมอไปทุกคนไม่
โจทก์ดำรงตำแหน่งเป็นคอเต็บ มัสยิดสวนพลู ก็เป็นกรรมการประจำมัสยิดนั้นคนหนึ่ง ย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจอยู่ ตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 เมื่อได้ความว่าโจทก์เจตนาหน่วงเหนี่ยวการทำทะเบียนสัปปุรุษไว้เพื่อมิให้มีการเลือกตั้งอิหม่าม บิหลั่น และกรรมการประจำมัสยิด อันอาจเสื่อมเสียประโยชน์ของมัสยิดตามระเบียบข้อ 13 (ฉ) จำเลยจึงชอบที่จะออกคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งคอเต็บได้ ไม่เป็นละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีตำแหน่งเป็นคอเต็บของมัสยิดสวนพลู ซึ่งเป็นตำแหน่งถาวร จำเลยที่ ๑ ในฐานะประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นกรรมการ ได้ร่วมกับนายวิรัตน์ ภู่มาคี กรรมการอีกคนหนึ่งซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ได้ทำละเมิดต่อโจทก์โดยร่วมกันออกคำสั่งปลดหรือถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งคอเต็บของมัสยิด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ใช่กรรมการประจำมัสยิด ไม่มีกฎหมายให้อำนาจจำเลยปลดหรือถอดถอนได้ จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเสีย
จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยออกคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งเป็นการชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยในฐานะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งคอเต็บประจำมัสยิดโดยชอบ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่มีอำนาจถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่ง คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๘ กำหนดให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการเกี่ยวแก่ศาสนกิจประจำมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ.๒๔๙๒ กำหนดไว้แล้ว ตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ต่างก็คือกรรมการอิสลามประจำมัสยิดคนหนึ่งในจำนวนไม่เกิน ๑๕ คน ตามระเบียบข้อ ๔ ที่ว่า อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น เป็นกรรมการโดยตำแหน่งนั้น หมายความว่าบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่นไม่ต้องออกตามวาระ ๔ มีตามระเบียบข้อ ๑๒ เมื่อถึงวาระเลือกตั้งใหม่ ถ้าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวยังมีตัวอยู่ และดำรงตำแหน่งหน้าที่โดยเรียบร้อยก็ไม่ต้องเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งนั้น ถ้าดำรงตำแหน่งหน้าที่โดยเรียบร้อยก็อยู่ได้ตลอดไปจนชรา ทุพพลภาพ หรือพิการ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่งยกขึ้นเป็นกิติมศักดิ์ในตำแหน่งเดิม ถ้าตำแหน่งหน้าที่ไม่เรียบร้อย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอาจพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่งได้ และโดยที่อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ต่างก็เป็นกรรมการอิสลามประจำมัสยิดดังกล่าวแล้ว จึงต้องอยู่ภายใต้ระเบียบที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งได้ตามระเบียบข้อ ๑๓ หาใช่ว่าเป็นอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่นแล้วจะได้เป็นอยู่จนถึงชรา ทุพพลภาพหรือพิการเสมอไปทุกคน จะถอดถอนมิได้ดังที่โจทก์เข้าใจนั้นไม่ โจทก์ดำรงตำแหน่งคอเต็บมัสยิดสวนพลูก็เป็นกรรมการอิสลามประจำมัสยิดนั้นคนหนึ่งย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบดังกล่าวนี้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจอยู่ตามความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.๒๔๙๐ ดังกล่าวแล้ว วินิจฉัยว่าตามพฤติการณ์ของโจทก์มีเจตนาหน่วงเหนี่ยวการทำทะเบียนสัปปุรุษไว้เพื่อมิให้มีการเลือกตั้งอิหม่าม บิหลั่น และกรรมการประจำมัสยิด ถือได้ว่าโจทก์ทำการอันอาจเสื่อมเสียประโยชน์ของมัสยิดตามระเบียบข้อ ๑๓ (ฉ) จำเลยจึงชอบที่จะออกคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งคอเต็บสวนพลูได้ ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน