แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลพิพากษาตามยอมและมีคำสั่งท้ายคำพิพากษาเพียงว่าบังคับคดีตามยอม เท่านั้นยังถือไม่ได้ว่าศาลได้มี คำบังคับแล้วและที่ศาลมีคำสั่งว่าบังคับคดีใน 30 วัน นั้นหมายความว่าให้มีคำบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความภายใน 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 และมาตรา273 เสียก่อนมิใช่เป็นคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคแรกศาลจะออกหมายบังคับคดีให้ทันทีได้ต่อเมื่อเห็นว่าคำบังคับ ได้ส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแล้วและระยะเวลาที่ศาล ได้กำหนดไว้เพื่อปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว ด้วยเมื่อปรากฏว่าการออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ ดังกล่าวคู่ความฝ่ายซึ่งถูกบังคับคดีย่อมขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยกหมายบังคับคดีเสียได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคแรก
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านเช่า และโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมีสัญญาข้อ 6 ระบุว่า “โจทก์ยินยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดภายใน 60 วัน หลังจากที่จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านพิพาท หากโจทก์ไม่รื้อถอนภายในระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ยินยอมชดใช้ค่าก่อสร้างแก่จำเลยตามความเป็นจริงเป็นเงิน 20,000 บาท” ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ต่อมาจำเลยยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาข้อ 6 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำขอว่าบังคับคดีใน 30 วัน แล้วออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ศาลมีคำสั่งให้บังคับคดีใน 30 วัน จำเลยยังมิได้ส่งคำบังคับให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีไม่ชอบ ขอให้ยกหมายบังคับคดีและเพิกถอนการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำพิพากษาตามยอมในคดีนี้ จดแจ้งไว้ในตอนท้ายคำพิพากษาแต่เพียงว่าบังคับคดีตามยอมเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำบังคับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 แล้ว เพราะที่จะเป็นคำบังคับนั้น ศาลจะต้องระบุโดยชัดแจ้งซึ่งระยะเวลาและเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามคำบังคับ และจะต้องระบุโดยชัดแจ้งในคำบังคับว่าในกรณีที่มิได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับเช่นว่านั้นภายในระยะเวลาหรือภายในเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้จะต้องถูกยึดทรัพย์หรือถูกจับและจำขังตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 273 กรณีเรื่องนี้ปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ต่อมาจำเลยยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ออกหมายบังคับคดีโดยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 6 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า บังคับคดีใน 30 วัน ซึ่งย่อมหมายถึงว่าให้มีคำบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 6 ภายในระยะเวลา 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 และมาตรา 273 เสียก่อน มิใช่เป็นคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคแรกศาลจะออกหมายบังคับคดีให้ทันทีได้ต่อเมื่อศาลเห็นว่าคำบังคับที่ขอให้บังคับนั้นได้ส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแล้ว และระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดเพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้วด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นเพิ่งมีคำบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 6 ภายในระยะเวลา 30 วัน โดยยังไม่ได้ส่งคำบังคับไปยังโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นกลับออกหมายบังคับคดี ตั้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ของโจทก์ไปทีเดียว จึงเป็นการออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 276 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์ซึ่งถูกบังคับคดีตามบังคับคดีย่อมขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยกหมายบังคับคดีนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคแรก
พิพากษากลับ ให้ยกหมายบังคับคดีในคดีนี้เสียและเพิกถอนการบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำไปแล้ว