แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 มุ่งประสงค์ให้ผู้รับประเมินได้ชำระหนี้ค่าภาษีจนหนี้ค่าภาษีที่พนักงานเก็บภาษีได้แจ้งการประเมินระงับสิ้นไปเสียก่อน หากเมื่อศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ผู้รับประเมินจึงจะมีสิทธิมาขอรับคืนเงินส่วนที่ลดลงมาได้เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับประเมินใช้การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อประวิงการชำระหนี้ค่าภาษี และตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม การชำระหนี้ค่าภาษีดังกล่าวด้วยเช็ค หนี้จะระงับเมื่อเช็คได้ใช้เงินแล้ว ดังนั้น หนี้ค่าภาษีประจำปีจึงยังไม่ระงับสิ้นไปและถือไม่ได้ว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนเงินค่าภาษีแต่ละปีภาษีเป็นการเรียกค่าขึ้นศาลเกินไปจากที่กฎหมายกำหนดเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งการประเมินค่าภาษีประจำปี 2535 ถึง 2543 ไปยังโจทก์ร่วมคราวเดียวกัน ถึงแม้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจะแจกแจงค่าภาษีแต่ละปีภาษี แต่ก็รวมยอดเป็นค่าภาษีทั้งสิ้น 143,949,403.29 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 200,000 บาท นั้น แม้โจทก์จะไม่ได้โต้แย้งไว้เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2535 ถึง 2543 รวม 9 ข้อหา ซึ่งแต่ละข้อหาแยกต่างหากจากกัน โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามรายข้อหา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2526 โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3008 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมโดยโจทก์มีหน้าที่ชำระภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือนหรือภาษีอื่นที่เกิดจากการเช่าตามสัญญาเช่าดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 และ 29 มิถุนายน 2543 พนักงานเก็บภาษีสำนักงานเขตปทุมวันแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนเลขที่ 4/1-2 ถนนราชดำริ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ไปยังสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2535 ค่ารายปี 1,914,068.78 บาท ค่าภาษี 239,258.60 บาท ปี 2536 ค่ารายปี 17,258,364.42 บาท ค่าภาษี 2,157,295.55 บาท ปี 2537 ค่ารายปี 120,065,462.40 บาท ค่าภาษี 15,008,182.80 บาท ปี 2538 ค่ารายปี 157,165,590.62 บาท ค่าภาษี 19,645,698.83 บาท ปี 2539 ค่ารายปี 165,878,887.75 บาท ค่าภาษี 20,734,860.97 บาท ปี 2540 ค่ารายปี 172,064,714.56 บาท ค่าภาษี 21,508,089.32 บาท ปี 2541 ค่ารายปี 173,896,713.36 บาท ค่าภาษี 21,737,089.17 บาท ปี 2542 ค่ารายปี 170,270,075.36 บาท ค่าภาษี 21,283,759.42 บาท ปี 2543 ค่ารายปี 173,081,349.60 บาท ค่าภาษี 21,635,168.63 บาท โจทก์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เห็นว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวสูงเกินความเป็นจริงและไม่เป็นธรรม จึงได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2535 และ 2536 ต่อสำนักงานเขตปทุมวันแล้ว ส่วนภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 โจทก์ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระเป็น 48 งวด งวดละเดือน เดือนละ 3,243,919.45 บาท งวดสุดท้ายชำระ 3,243,919.90 บาท และโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาราชดำริ ชำระเงินตามงวดดังกล่าว งวดที่ 1 เช็คลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 และงวดต่อไป เช็คลงวันที่ 20 ของเดือนต่อๆ ไป จนครบ 48 งวด งวดสุดท้ายเช็คลงวันที่ 20 ตุลาคม 2547 โดยโจทก์ทำหนังสือรับสภาพหนี้และหนังสือค้ำประกันต่อสำนักงานเขตปทุมวันด้วย ต่อมาจำเลยชี้ขาดยืนตามการประเมินของพนักงานเก็บภาษีโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการประเมินในส่วนลานเอนกประสงค์และทางเดินภายนอก พนักงานเก็บภาษีของจำเลยกำหนดพื้นที่สำหรับปีภาษี 2537 ถึงปีภาษี 2543 ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และพื้นที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ได้นำมาให้ผู้อื่นเช่าเพื่อหาผลประโยชน์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรในส่วนนี้การคำนวณภาษีโรงเรือนในส่วนพื้นที่ส่วนกลางและห้องว่างทั้งหมดตั้งแต่ปีภาษี 2538 ถึงปีภาษี 2543 พนักงานเก็บภาษีของจำเลยกำหนดการคิดภาษีโรงเรือนในพื้นที่ส่วนกลางและห้องว่างทั้งหมดผิดพลาดคลาดเคลื่อนสูงเกินความเป็นจริง ส่วนเบี้ยประกันภัยที่พนักงานเก็บภาษีของจำเลยประเมินนำมารวมเป็นเงินค่ารายปีแล้วคำนวณเป็นเงินภาษีที่ผู้รับประเมินต้องชำระนั้นไม่ถูกต้องเพราะตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่าค่ารายปีหมายความว่าจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ ส่วนการประกันภัยเป็นเรื่องประกันความเสียหายของอาคารทรัพย์สินที่ให้เช่า หากเกิดความเสียหายขึ้นก็จะได้นำเงินที่ได้จากการประกันภัยมาดำเนินการซ่อมแซมหรือก่อสร้างใหม่ไม่ใช่นำเงินดังกล่าวมาเป็นรายได้ของผู้ให้เช่า ดังนั้นเบี้ยประกันภัยจึงไม่รวมอยู่ในเงินค่ารายปี ส่วนพื้นที่จอดรถของโจทก์มีเพียง 53,557.90 ตารางเมตร พนักงานเก็บภาษีของจำเลยประเมินเพิ่มขึ้นมากกว่าความจริง 4,917.10 ตารางเมตร หากคำนวณภาษีที่ถูกต้องจะเป็นค่ารายปี 12,853,896 บาท ค่าภาษี 1,606,737 บาท ทำให้ผู้รับประเมินเสียภาษีสำหรับที่จอดรถเกินความเป็นจริงปีละ 147,513 บาท ส่วนเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้เช่าช่วงนั้นจำเลยจะต้องคำนวณค่าบริการที่โจทก์ให้บริการแก่ผู้เช่าช่วงแล้วนำค่าบริการต่างๆ มาหักลดหย่อนจากเงินช่วยค่าก่อสร้างแล้วจึงนำรายได้ที่แท้จริงไปคำนวณเป็นค่ารายปีเพื่อคิดอัตราภาษีโรงเรือน ดังนั้นการที่พนักงานเก็บภาษีนำเงินช่วยค่าก่อสร้างทั้งจำนวนไปรวมคิดเป็นค่ารายปีจึงไม่ชอบ ส่วนค่าภาษีที่เกิดจากค่าเช่าห้อง พนักงานเก็บภาษีของจำเลยประเมินโดยปราศจากหลักเกณฑ์ ไม่ได้ประเมินตามอัตราค่าเช่าที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าโจทก์เห็นว่าการประเมินที่ถูกต้องจะต้องเป็นดังนี้
ปี 2535 ค่ารายปี 1,148,441.30 บาท ค่าภาษี 143,555.20 บาท
ปี 2536 ค่ารายปี 10,355,018.70 บาท ค่าภาษี 1,294,377.40 บาท
ปี 2537 ค่ารายปี 75,560,893.50 บาท ค่าภาษี 9,445,111.70 บาท
ปี 2538 ค่ารายปี 75,560,893.50 บาท ค่าภาษี 9,445,111.70 บาท
ปี 2539 ค่ารายปี 75,560,893.50 บาท ค่าภาษี 9,445,111.70 บาท
ปี 2540 ค่ารายปี 75,560,893.50 บาท ค่าภาษี 9,445,111.70 บาท
ปี 2541 ค่ารายปี 75,560,893.50 บาท ค่าภาษี 9,445,111.70 บาท
ปี 2542 ค่ารายปี 75,560,893.50 บาท ค่าภาษี 9,445,111.70 บาท
ปี 2543 ค่ารายปี 75,560,893.50 บาท ค่าภาษี 9,445,111.70 บาท
รวมค่ารายปี 540,429,714.50 บาท ค่าภาษี 67,553,714.50 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระเกินไปเป็นจำนวน 76,395,688.80 บาท ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยและการประเมินของพนักงานเก็บภาษีสำนักงานเขตปทุมวัน และให้จำเลยคืนเงิน 76,395,688.80 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) และวรรคท้าย ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3008 เนื้อที่ 117 ไร่ 67 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม และเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2526 โจทก์ร่วมให้โจทก์เช่าที่ดินดังกล่าวเป็นเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ เพื่อปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมในนามของโจทก์ร่วมคือ อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เลขที่ 4 และ 4/1-2 แล้วให้โจทก์เช่าโดยโจทก์มีหน้าที่ต้องเป็นผู้ชำระภาษีโรงเรือนและภาษีอื่นใดที่เกิดจากการเช่าตามสัญญาแทนโจทก์ร่วม ในระหว่างอายุสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 28 และ 29 มิถุนายน 2543 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินภาษีโรงเรือนในอาคารดังกล่าวในระหว่างปีภาษี 2535 ถึง 2543 เป็นค่ารายปีรวม 1,151,595,226.32 บาท และค่าภาษีเป็นเงินรวม 143,949,403.29 บาท โจทก์และโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ แต่จำเลยมีคำสั่งยืนตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินไว้ โจทก์ร่วมเห็นว่าการประเมินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากได้รวมพื้นที่ที่ว่างไปใช้ในการคำนวณภาษีด้วย พื้นที่ดังกล่าวโจทก์ร่วมไม่ได้ให้โจทก์เช่าเพียงแต่ยอมให้โจทก์นำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ในการคำนวณพื้นที่ปลูกสร้างเพื่อขออนุญาตปลูกสร้างเท่านั้น แต่สิทธิในการใช้สอยและดูแลรักษายังคงเป็นของโจทก์ร่วมซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 มาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับยกเว้นจากการเก็บภาษีอากร ฉะนั้นพื้นที่ในส่วนนี้จึงไม่อาจนำไปคำนวณภาษีได้ อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543 โจทก์ร่วมได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ และให้โจทก์ส่งมอบสถานที่เช่าคืนโจทก์ร่วมแล้ว อนึ่งโจทก์ร่วมได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2477 ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยและการประเมินของพนักงานเก็บภาษีสำนักงานเขตปทุมวันที่จำเลยแต่งตั้งและให้ชี้ขาดให้พนักงานเก็บภาษีสำนักงานเขตปทุมวันรับประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนของอาคารเลขที่ 4/1-2 ถนนรายดำริ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และคืนเงินตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 คือ มิได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระให้แก่จำเลยตามคำชี้ขาดการประเมินก่อนที่จะยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อจำเลยโดยยินยอมชำระค่าภาษีตามการประเมินทุกประการ จึงถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นผลให้ข้อโต้แย้งเรื่องการประเมินภาษีของพนักงานเจ้าหน้าที่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850, 851, 852 โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ใช่เจ้าของอาคารที่ถูกประเมินและมิได้เป็นผู้รับประเมินตามกฎหมาย ผู้เป็นเจ้าของอาคารคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดพื้นที่ลานเอนกประสงค์ ทางเดินภายนอกพื้นที่ส่วนกลางและห้องว่างและคำนวณภาษีถูกต้องแล้ว เบี้ยประกันภัยและเงินช่วยค่าก่อสร้างที่พนักงานเก็บภาษีของจำเลยนำมารวมเป็นเงินค่ารายปีตามฟ้องนั้นถือว่าเป็นเงินอื่นใดที่จ่ายเพื่อให้ได้เช่าทรัพย์สินจึงต้องนำมารวมคำนวณเป็นค่ารายปี การประเมินภาษีของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายโต้แย้งการประเมินภาษีปี 2535 และ 2536 ว่าไม่ชอบอย่างไร จึงต้องถือว่าโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีในปี 2535 และ 2536 ส่วนการประเมินภาษีในปี 2537 ถึง 2543 โจทก์ยื่นฟ้องโดยมิได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระหรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 ประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์และโจทก์ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อพนักงานเก็บภาษีของจำเลยได้แจ้งรายการประเมินและเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2537 ถึง 2543 โจทก์ร่วมโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระเป็น 48 งวด งวดละเดือน เดือนละ 3,243,919.45 บาท งวดสุดท้ายชำระ 3,243,919.90 บาท โดยจ่ายเช็คชำระค่างวดดังกล่าว งวดที่ 1 เช็คลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 งวดต่อไปเช็คลงวันที่ 20 ของเดือนถัดไปจนครบ 48 งวด ในวันที่ 20 ตุลาคม 2547 พร้อมทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้จำเลยโดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยตกลงให้โจทก์ร่วมผ่อนชำระค่าภาษีได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ แต่ผู้ว่าราชการของจำเลยมีคำชี้ขาดตามการประเมินของพนักงานเก็บภาษีของจำเลย โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องในข้อหาเกี่ยวกับค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ผ่อนชำระค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 โดยโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คพร้อมกับทำหนังสือรับสภาพหนี้และทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่จำเลย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีตามการประเมินแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 บัญญัติว่า “…ห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระ…หรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล” นั้น กฎหมายมุ่งประสงค์ให้ผู้รับประเมินได้ชำระหนี้ค่าภาษีจนหนี้ค่าภาษีที่พนักงานเก็บภาษีได้แจ้งการประเมินระงับสิ้นไปเสียก่อน หากเมื่อศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ผู้รับประเมินจึงจะมีสิทธิมาขอรับคืนเงินส่วนที่ลดลงมาได้ตามเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวในวรรคท้ายทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับประเมินใช้การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อประวิงการชำระหนี้ค่าภาษีเพราะการกระทำดังกล่าวอาจทำให้ทางราชการขาดเงินรายได้จากภาษีมาใช้ในการบริหารราชการได้ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม การชำระหนี้ด้วยเช็ค หนี้จะระงับเมื่อเช็คได้ใช้เงินแล้ว ดังนั้น หนี้ค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 จึงยังไม่ระงับสิ้นไปและถือไม่ได้ว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระดังที่กฎหมายกำหนดไว้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องสำหรับข้อหาเกี่ยวกับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2537 ถึง 2543 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนเงินค่าภาษีแต่ละปีภาษีเป็นการเรียกค่าขึ้นศาลเกินไปจากที่กฎหมายกำหนด เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งการประเมินค่าภาษีประจำปี 2535 ถึง 2543 ไปยังโจทก์ร่วมคราวเดียวกัน ถึงแม้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจะแจกแจงค่าภาษีแต่ละปีภาษีก็ตามแต่ก็รวมยอดเป็นค่าภาษีทั้งสิ้น 143,949,403.29 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 200,000 บาท นั้น แม้ปัญหาข้อนี้โจทก์จะไม่ได้โต้แย้งไว้เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2535 ถึง 2543 รวม 9 ข้อหา ซึ่งแต่ละข้อหาแยกต่างหากจากกัน โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามรายข้อหา ตามนับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2543 ระหว่างกรมสรรพากร โจทก์ บริษัทอินเตอร์แพนโอเวอร์ซีส์เทรด (ไทยแลนด์) จำกัด โดยนายธนาธิป ผ่านเมือง ผู้ชำระบัญชี จำเลย ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ