แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านในคดีก่อนก็เพราะจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อนนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อจำเลยเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะมีความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ทั้งถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอเข้าไปในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)และคดีก่อนโจทก์ไม่ได้ร้องคัดค้านเข้าไปในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกสามารถและพิสูจน์ในชั้นบังคับคดีได้ว่า โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันโจทก์ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)โดยไม่ต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ คำร้องขอของโจทก์ในคดีก่อนเป็นคำฟ้อง และแม้ในคดีก่อนศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ แต่โจทก์ก็ยังฎีกาคัดค้านต่อศาลฎีกาคดีก่อนจึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่โจทก์มาฟ้องขับไล่่จำเลยเป็นคดีนี้ ซึ่งคดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทจำเลยเป็นบริวารของผู้เช่า ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกับคดีก่อนว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือของจำเลย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่9313, 9314 และ 9315 พร้อมบ้านเลขที่ 633 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทมูลนิธิ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโบสถ์คริสต์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2503 นายวิลเลี่ยม ดี.คาลเส็นได้ทำสัญญาเช่าที่ดินทั้งสามโฉนดพร้อมบ้านเลขที่ 633 กับโจทก์มีกำหนดระยะเวลาเช่า 30 ปี ค่าเช่าปีละ 100 บาท รวมตลอดอายุการเช่าเป็นเงิน 3,000 บาท โดยจดทะเบียนการเช่าไว้ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมานายวิลเลียมเดินทางกลับไปอยู่ที่ต่างประเทศและถึงแก่กรรม นายวิลเลียมไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้โอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยแต่อย่างใด ครั้นเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าโจทก์ทราบว่าจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านที่เช่าในฐานะบริวารของนายวิลเลียมเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งสามโฉนดคืนโจทก์และขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินและบ้านที่เช่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยกลับยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2542/2533 หมายเลขแดงที่ 2508/2533โดยอ้างข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินและบ้านซึ่งโจทก์ไม่ทราบเรื่องและไม่สามารถยื่นคำคัดค้านได้การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โดยยังครอบครองทรัพย์สินที่เช่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านที่เช่าได้ ซึ่งหากโจทก์นำออกให้บุคคลภายนอกเช่า>จะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาท เมื่อรวมระยะเวลาถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 65,800 บาท ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 9313, 9314 และ 9315 รวม 3 โฉนดคืนโจทก์และให้จำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและบ้านเลขที่ 633 ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินและบ้านดังกล่าวต่อไปและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 65,800 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและบ้านของโจทก์
จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ก่อนสืบพยานจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 9313,9314 และ 9315 คืนโจทก์ ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 633 บนที่ดินดังกล่าว และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2533 จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและคำพิพากษา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่า ในคดีก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1031/2537 ว่า ผู้ร้อง (จำเลยคดีนี้) ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองในที่ดินโฉนดพิพาท โดยไม่มีผู้คัดค้านศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งไปเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2533 ว่าที่ดินโฉนดพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองในชั้นบังคับคดีผู้คัดค้าน (โจทก์คดีนี้) ยื่นคำร้องคัดค้านเมื่อวันที่11 กุมภาพันธ์ 2534 ว่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาทคดีมีการอุทธรณ์ฎีกาว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีเดิมหรือไม่ ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้รับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน (โจทก์คดีนี้) ไว้ไต่สวนโดยวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิจึงชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้าไปในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าผู้คัดค้าน(โจทก์คดีนี้) เป็นบุคคลภายนอกคดี จึงสามารถพิสูจน์ในชั้นบังคับคดีได้ว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง โดยไม่ต้องให้ผู้คัดค้านไปฟ้องเป็นคดีใหม่ คดีอยู่ในระหว่างการไต่สวนตามคำพิพากษาของศาลฎีกา
โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่าฟ้องโจทก์ในคดีนี้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) เห็นว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแพ่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น” และมาตรา 1(3) บัญญัติว่า คำฟ้องหมายความว่ากระบวนพิจารณาใด ๆที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอ ฯลฯ”และมาตรา 57 บัญญัติว่า บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด (1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนี้ ฯลฯ” เห็นว่าการที่โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านในคดีก่อนก็เพราะจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อนนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อจำเลย เป็นการดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะมีความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นทั้งถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอเข้าไปในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) และคดีก่อนโจทก์ไม่ได้ร้องคัดค้านเข้าไปในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ โจทก์เป็นบุคคลภายนอกสามารถพิสูจน์ในชั้นบังคับคดีได้ว่า โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)โดยไม่ต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ คำร้องขอของโจทก์ในคดีก่อนจึงเป็นคำฟ้องและแม้ในคดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ แต่โจทก์ก็ยังฎีกาคัดค้านต่อศาลฎีกาคดีก่อนจึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาการที่โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ในวันที่ 9 มกราคม 2535 ซึ่งคดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท จำเลยเป็นบริวารของผู้เช่าจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกับคดีก่อนว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือของจำเลยฟ้องโจทก์คดีนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)
พิพากษายืน